xs
xsm
sm
md
lg

นักธุรกิจทั่วโลกเชื่อว่าหลังจากเวลาผ่านไประบบการค้าโลกจะสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น อินเดียจ่อคิวมหาอำนาจ ศก.ตามจีน-อเมริกา-ญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผลการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจ 2,000 คน จาก 20 ประเทศ ซึ่งจัดทำโดย Bloomberg New Economy Forum บ่งชี้ว่า จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ถูกมองว่าจะยังคงเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจต่อไปในช่วง 10 ปีข้างหน้า ตามมาด้วยอินเดีย

บลูมเบิร์กได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นจากผู้ที่ทำงานในแวดวงธุรกิจจำนวน 2,000 คนใน 20 ประเทศฉบับล่าสุดในวันนี้ (22 ตุลาคม 2561) พบว่า นักธุรกิจกว่า 7 ใน 10 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 74 คาดหวังว่าระบบการค้าโลกจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ในระยะยาวเท่านั้น และเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้มีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ตอบรับการสำรวจ คิดเป็นร้อยละ 55 ที่ยังคงเชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าการค้าทั่วโลกจะเพิ่มตัวสูงขึ้น ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมาเตือนว่าความขัดแย้งทางการค้าจะทำให้ตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.9 จะเหลือเพียงร้อยละ 3.7

จากการเติบโตของเศรษฐกิจใหม่ ทำให้นักธุรกิจกว่าครึ่งหนึ่งมองว่าโมเดลเศรษฐกิจแบบโลกาภิวัตน์ที่เน้นการค้าเสรีระดับพหุภาคีและการเปิดเขตแดนทางการค้าจะเป็นวิธีที่มีประสิทธิผลที่สุด แต่พวกเขาก็ยังระบุอีกด้วยว่าโมเดลนี้ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเพื่อให้สามารถกระจายผลประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมเท่าเทียมในทุกภาคส่วน

เมื่อสอบถามความคิดเห็นว่าประเทศใดที่กลุ่มนักธุรกิจคาดการณ์ว่าจะขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก 3 อันดับแรกในอีก 10 ปีข้างหน้า นักธุรกิจร้อยละ 86 ส่วนใหญ่จะเลือกประเทศจีน ต่อมาคือร้อยละ 70 เลือกสหรัฐอเมริกา และร้อยละ 36 คิดว่าเป็นญี่ปุ่น


“ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy survey) ถือเป็นตัวชี้วัดความคิดเห็นของสาธารณชนที่มีต่อช่วงเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นหัวข้อสำคัญที่เราจะทำการสนทนากันในงานประชุม New Economy Forum ที่จะจัดขึ้นที่สิงคโปร์ในเดือนหน้า” จัสติน บี. สมิธ กรรมการผู้จัดการ บลูมเบิร์ก มีเดีย กรุ๊ป กล่าว

“การสำรวจนี้แสดงให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละฝ่ายที่มองถึงอนาคต และเป็นการชี้ชัดให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการรวมตัวกันของภาครัฐและผู้นำทางธุรกิจทั่วโลก เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาสำคัญต่างๆ ของโลก โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้ชี้นำ”


*** ธรรมาภิบาลโลกเป็นประเด็นที่ต้องจัดการอย่างเร่งด่วน
ร้อยละ 26 ระบุว่าธรรมาภิบาลระดับโลกคือประเด็นท้าทายที่สำคัญระดับโลกที่ควรได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนที่สุด ความคิดเห็นนี้เด่นชัดมากในกลุ่มผู้ตอบรับการสำรวจจากประเทศอินเดีย (ร้อยละ 39) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 35) มาเลเซีย (ร้อยละ 31) และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง (ร้อยละ 41) และถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะแสดงออกว่าพวกเขาไม่ค่อยเชื่อมั่นในศักยภาพของภาครัฐ ก็ยังมีผู้ตอบรับการสำรวจมากถึง 3 ใน 4 (ร้อยละ 75) ที่ยังคงเชื่อว่าผู้นำโลกและรัฐบาลต่างๆ ควรจะเป็นกำลังหลักในการผลักดันการแก้ปัญหาสำคัญต่างๆ ของโลก และมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่คิดว่าธุรกิจและภาคเอกชนควรจะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาดังกล่าว


สมิธกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ภาคเอกชนนั้นไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากจะเข้ามาจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากระเบียบเศรษฐกิจใหม่ เพราะภาครัฐนั้นล้มเหลวในการดำเนินการ “เราคิดว่าภาคธุรกิจจะต้องแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำในการจัดการปัญหาสำคัญต่างๆ ของโลก เศรษฐกิจใหม่กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในการค้าและการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปนี้ทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเจรจา รวมถึงการดำเนินการกันอย่างจริงจังเกี่ยวกับผลกระทบจากช่วงเปลี่ยนผ่านนี้”



***ความแตกต่างระหว่างมุมมองของตลาดเกิดใหม่กับตลาดที่พัฒนาแล้ว
เป็นที่น่าประหลาดใจที่ผลการสำรวจในครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความมั่นใจในแนวโน้มภาพรวมการค้าที่สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัดของนักธุรกิจจากประเทศกำลังพัฒนาเมื่อเทียบกับนักธุรกิจจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ซึ่งแนวคิดการคุ้มครองทางการค้ากำลังเป็นที่นิยม โดยนักธุรกิจจากตลาดเกิดใหม่มากกว่า 3 ใน 5 (ร้อยละ 63) เชื่อว่าการค้าโลกจะเพิ่มมากขึ้นในช่วง 5 ปีข้างหน้า โดยมุมมองนี้ชัดเจนมากในกลุ่มผู้ตอบรับการสำรวจจากประเทศจีน (ร้อยละ 66) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 74) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 76) ไทย (ร้อยละ 80) และอินเดีย (ร้อยละ 71) ตรงข้ามกับมุมมองของนักธุรกิจจากตลาดประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีเพียงราว 1 ใน 3 (ร้อยละ 36) เท่านั้นที่คิดว่าการค้าโลกจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 5 ปีนี้


ทอม ออร์ลิค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำบลูมเบิร์ก กล่าวว่า “หนึ่งในผลการสำรวจที่โดดเด่นที่สุดจากการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ คือความแตกต่างระหว่างทัศนคติเชิงบวกต่อภาพรวมแนวโน้มการค้าในกลุ่มตลาดเกิดใหม่กับทัศนคติเชิงลบในกลุ่มตลาดที่พัฒนาแล้ว ซึ่งบอกเป็นนัยว่า สำหรับตลาดเกิดใหม่นี้แนวโน้มความเสียหายจากสงครามการค้าอาจจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากธุรกิจต่างๆ ยังคงมีแนวคิดพื้นฐานในเชิงบวกต่อการค้าในภาพรวม การจ้างงานและการลงทุนก็จะช่วยผลักดันให้เกิดการเติบโตยิ่งขึ้น แม้อัตราภาษีศุลกากรจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม”


นอกจากนี้ ผู้ตอบรับการสำรวจจากตลาดเกิดใหม่ยังมีความมั่นใจและมีแรงกระตุ้นในการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตมากกว่าทางตลาดที่พัฒนาแล้ว ร้อยละ 66 ของผู้ตอบแบบสำรวจจากตลาดเกิดใหม่รายงานว่าพวกเขากำลังเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เทียบกับเพียงร้อยละ 43 ของตลาดที่พัฒนาแล้ว ร้อยละ 56 มีการพัฒนาทักษะและเข้าเรียนหลักสูตรเพิ่มเติมเพื่อเสริมสร้างความเชี่ยวชาญ เทียบกับเพียงร้อยละ 29 ของนักธุรกิจจากตลาดที่พัฒนาแล้ว และพวกเขายังตระหนักถึงความสำคัญในการเริ่มต้นกิจการธุรกิจใหม่ๆ (ร้อยละ 35) และการมีจิตสำนึกต่อสังคมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (ร้อยละ 50) เมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสำรวจจากประเทศที่พัฒนาแล้ว (ร้อยละ 10 และร้อยละ 37 ตามลำดับ)

***เทคโนโลยีคือแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต
ขณะที่กว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมดกล่าวว่าพวกเขาได้เริ่มเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต อัตราการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีจะต่ำกว่าในส่วนของประเทศพัฒนาแล้ว (ร้อยละ 43) โดยเฉพาะนักธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 30) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 33) และเยอรมนี (ร้อยละ 42)
นักธุรกิจจากกลุ่มตลาดเกิดใหม่แสดงความสนใจอย่างเห็นได้ชัดกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเชื่อว่า AI จะช่วยเปิดโอกาสงานใหม่ๆ ให้กับคนวัยทำงาน ซึ่งจะสร้างผลประโยชน์ให้ระบบเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะในประเทศจีน อินเดีย และเวียดนาม มีเพียงร้อยละ 5 ของผู้ตอบรับการสำรวจจากตลาดเกิดใหม่ที่บอกว่าไม่ได้วางแผนรับมือกับอนาคตไว้เลย


ในส่วนของตลาดที่พัฒนาแล้ว (ร้อยละ 27) พบว่ามีจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจสูงกว่าค่าเฉลี่ย (ร้อยละ 12) ที่ตอบว่าไม่ได้มีการวางแผนเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคต

งานเสวนา Bloomberg New Economy Forum มีเป้าหมายในการพัฒนาหาแนวทางการแก้ปัญหาโดยการนำของภาคธุรกิจเพื่อจัดการกับความท้าทายสำคัญต่างๆ ของโลกในปัจจุบัน รวมไปถึงโลกาภิวัตน์และการค้า เทคโนโลยี การเงินและตลาดทุน ภูมิอากาศ การสร้างความเจริญและการผนวกรวม โดยงาน New Economy Forum ครั้งแรกนี้จะถูกจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 6-7 พฤศจิกายน 2561 โดยมี ไมเคิล อาร์. เป็นพิธีกรผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวกันของผู้นำระดับแนวหน้าของโลกกว่า 400 คน เพื่อร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางแก้ปัญหาโดยการนำของภาคเอกชน เพื่อจัดการกับปัญหาสำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลกในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้


***ระเบียบวิธีวิจัย
ในเดือนกันยายน ปี 2561 บลูมเบิร์กได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นจากนักธุรกิจระดับกลางถึงระดับอาวุโสจำนวน 2,000 คน จาก 20 ประเทศทั่วโลก ทั้งในตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ เพื่อรวบรวมมุมมองเกี่ยวกับโอกาส ความท้าทาย ความวิตกกังวล และความคาดหวังที่พวกเขามีต่อสถานการณ์ในอนาคต จากการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจใหม่




กำลังโหลดความคิดเห็น