xs
xsm
sm
md
lg

ภาคธุรกิจเร่งปรับตัวรับมือ! แรงงานสูงวัยพุ่ง-เทคโนโลยีเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาองค์การนายจ้างฯ เผยแนวโน้มธุรกิจไทยที่ตั้งมานานกำลังประสบปัญหาพนักงานก้าวสู่แรงงานสูงวัยและผลิตภาพการผลิตเริ่มไม่คุ้มกับอัตราค่าจ้าง ส่งผลให้นายจ้างเริ่มต้องใช้โครงการเออร์ลีรีไทร์มากขึ้น ประกอบกับแรงกดดันเทคโนโลยีเปลี่ยน แถมแรงงานรุ่นใหม่เปลี่ยนงานบ่อย แนวโน้มการว่างงานอาจสูงขึ้น


นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจในไทยมายาวนาน 20-30 ปีกำลังประสบปัญหาพนักงานก้าวสู่แรงงานสูงวัย ซึ่งทำให้ผลิตภาพการผลิต (Productivity) เมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นไม่คุ้มค่า จึงเริ่มทยอยดำเนินโครงการสมัครใจลาออกก่อนเกษียณอายุ หรือเออร์ลีรีไทร์ ซึ่งคาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง

“ปัญหาตอนนี้บริษัทที่ตั้งมานานแรงงานเองที่โตมาพร้อมกันก็เข้าสู่แรงงานสูงวัย แต่พบว่าตำแหน่งหน้าที่การงานยังไม่ได้ก้าวไปสู่ระดับที่สูงขึ้นนัก เช่นบางคนทำหน้าที่แค่จัดการเอกสารพื้นฐานธรรมดาแต่อยู่นานค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องต้นทุนที่เริ่มไม่คุ้มกับค่าจ้าง นายจ้างกลุ่มนี้จึงเริ่มเอาพนักงานประเภทดังกล่าวออกเพื่อรับเด็กหนุ่มสาวที่จบใหม่แทนเพื่อลดต้นทุน” นายธนิตกล่าว

นอกจากนี้ ปัญหาการที่ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ประกอบกับธุรกิจหลายอย่างมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนไปมาก หรือ Disruptive ก็เป็นแรงกดดันทำให้ภาคธุรกิจใหม่ๆ หรือธุรกิจที่มีเงินลงทุนสูงมุ่งเน้นการติดตั้งเทคโนโลยี เช่น ระบบอัตโนมัติมาทดแทนแรงงานคนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่แรงงานเองปัจจุบันยอมรับว่าเป็นเด็กรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งมักทำงานไม่ยั่งยืนมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และบางส่วนใช้ช่องว่างของสวัสดิการประกันสังคมรับเงินช่วงว่างงานพอสักพักก็ไปหางานใหม่ทำ ฯลฯ ภาพรวมเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงตัวเลขผู้ว่างงานเดือน ก.ย. 61 ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานไว้ว่ามี 3.73 แสนคน และพบว่าในจำนวน 1.95 แสนคนนั้นเป็นคนที่เคยทำงานมาก่อน ส่วน 1.78 แสนคนเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน

“ในจำนวนของผู้ที่เคยทำงานมาก่อนว่างงานถึง 1.95 แสนคนนั้นก็ชี้ให้เห็นว่าเป็นคนมีงานทำแล้วออกมา และสาเหตุการออกก็เข้าใจได้ว่าเป็นการลาออกเอง การสมัครใจออก การตกงาน แต่ตัวเลขผู้ว่างงานในเดือนนี้ก็ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ เดือนกันยายน 61 ไทยมีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานจำนวนทั้งสิ้น 38.39 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.95 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.73 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 6.70 หมื่นคน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอัตราการว่างงานจะเริ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 เพราะจะมีเด็กจบใหม่เข้ามาสู่ระบบอีกอย่างต่ำ 3.5-4 แสนคน โดยคาดว่าระดับปริญญาตรีที่ไม่ใช่สาขาวิชาชีพก็จะประสบปัญหาว่างงานเพิ่มขึ้นเช่นเดิมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น