xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ชงขึ้นบัญชีควบคุมมะพร้าว แก้ปัญหาลักลอบทุบราคาในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” ชง “สมคิด” วันนี้ไฟเขียวขึ้นบัญชี “มะพร้าวและผลิตภัณฑ์” เป็นสินค้าควบคุม ก่อนใช้มาตรการให้แจ้งก่อนการขนย้าย หวังแก้ปัญหาลักลอบนำเข้าจนฉุดราคาในประเทศตกต่ำ เผยจะเสนอให้พิจารณาข้อร้องเรียนของชาวสวนที่ขอให้ชะลอนำเข้า 7 เดือนด้วย

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ที่มี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 18 ต.ค. 2561 กรมฯ จะเสนอให้พิจารณาหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำ โดยจะขอกำหนดให้สินค้ามะพร้าวและผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าควบคุมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ตามที่เกษตรกรเสนอ และจะกำหนดมาตรการให้ผู้ที่มีมะพร้าวและผลิตภัณฑ์ไว้ในครอบครอง หากต้องการขนย้ายจะต้องขออนุญาตการขนย้ายก่อน ถ้าฝ่าฝืนจะมีโทษปรับจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ตามมาตรา 37

“หากคณะกรรมการพืชน้ำมันฯ เห็นชอบ กรมฯ จะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาออกประกาศกำหนดเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดมาตรการขนย้าย โดยมั่นใจว่ามาตรการนี้จะช่วยป้องกันปัญหาการลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายต่อในประเทศ หรือแปรรูปได้ จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป”

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกรมการค้าต่างประเทศมีมาตรการดูแลการนำเข้าอยู่แล้ว แต่ยังพบว่ามีผู้ประกอบการบางส่วนลักลอบนำเข้ามะพร้าวมาจำหน่าย และแปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเมื่อลักลอบนำเข้ามาแล้วก็ตรวจสอบได้ยาก หากนำเข้าสู่บัญชีสินค้าควบคุม และออกมาตรการให้แจ้งก่อนการขนย้าย จะช่วยควบคุมดูแลได้อีกทางหนึ่ง เพราะต่อไปผู้ประกอบการจะต้องแจ้งให้กรมฯ ทราบทุกครั้งก่อนการขนย้าย ถ้าขนย้ายโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดทั้งจำและปรับ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ จะนำข้อเรียกร้องของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวที่ได้จากการลงพื้นที่พบปะเกษตรกรที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา นำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันฯ พิจารณา โดยข้อเรียกร้องที่เกี่ยวข้องกับกรมฯ เช่น ชะลอการนำเข้ามะพร้าวผลเป็นเวลา 7 เดือน
ตามกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และศึกษาแนวทางการชะลอนำเข้าภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ตั้งแต่เดือน พ.ย. 61-พ.ค. 2561 เช่น กำหนดด่านนำเข้าและมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช, ปรับแก้กฎหมายให้ผู้นำเข้ามะพร้าว แปรสภาพมะพร้าว (กะเทาะ) ภายในโรงงานของตนเองเท่านั้น ห้ามจำหน่าย จ่าย โอนภายในประเทศให้แก่บุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นข้อกำหนดของการนำเข้าภายใต้กรอบ AFTA เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น