xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เปิด PPP แปลง A กว่าหมื่นล้านใน ม.ค.62 คาด 30 ปีสร้างรายได้ 4 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ร.ฟ.ท.เปิดเวทีรับฟังความเห็นนักลงทุนนำร่องแปลง A ศูนย์พหลฯ 32 ไร่ มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้าน ก่อนเปิดประมูล PPP ใน ม.ค. 62 เซ็นสัญญาปลายปี เปิดให้บริการ 64 รองรับเดินรถสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ มี ผดส.ไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน/วัน “วรวุฒิ” เผยพื้นที่ไข่แดงของ TOD พหลโยธิน คาดแปลง A สร้างรายได้ 4 พันล้านใน 30 ปี

วันนี้ (17 ต.ค. 61) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดงานรับฟังความเห็นภาคเอกชนในการลงทุน (Market Sounding) โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน แปลง A เพื่อให้ภาคเอกชนและนักลงทุนเห็นถึงศักยภาพของสถานีกลางบางซื่อ และแผนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี และเปิดรับฟังความเห็นและมุมมอง ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ นักลงทุนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กลุ่มธนาคาร กลุ่มนักลงทุน สมาคมการค้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 68 หน่วยงาน กว่า 200 คนที่เข้าร่วม

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า พื้นที่แปลง A ตั้งใกล้กับสถานีกลางบางซื่อจะเปิดให้บริการพร้อมกับรถไฟสายสีแดง ช่วงต้นปี 2564 การศึกษาประเมินว่าจะมีผู้ใช้บริการรวมกว่า 2 แสนคนต่อวัน และปี 2570 เพิ่มเป็น 3.2 แสนคนต่อวัน และปี 2575 เพิ่มเป็น 3.96 แสนคนต่อวัน ซึ่งอาจจะประเมินที่น้อยไปด้วย เพราะสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางของระบบขนส่ง รถไฟฟ้า รถไฟทางไกล รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับการลงทุนพัฒนาเชิงพาณิชย์อย่างยิ่ง

“จะเป็นครั้งแรกในรอบ 200 ปี ที่จะเกิดการขยับจุดศูนย์กลางคมนาคม จากพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ สัมพันธวงศ์ ซึ่งมีสถานีรถไฟที่หัวลำโพง มาที่สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งจะเป็ดาวทาวน์ใหม่ที่รองรับการขยายตัวธุรกิจของ กทม. อยากได้ผู้ลงทุนที่มองอนาคตและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการเพื่อรองรับการเดินทางและการใช้ชีวิตของคนเมืองยุคใหม่ เป็นสมาร์ทซิตี้ ที่ต้องเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ” นายไพรินทร์กล่าว

ร.ฟ.ท.คาดแปลง A สร้างรายได้ 4 พันล้านใน 30 ปี

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ร.ฟ.ท.จะเปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุน (PPP) พื้นที่แปลง A นำร่อง เนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ มูลค่าลงทุน 11,721 ล้านบาท โดยกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี โดยจะรับฟังความเห็นจากนักลงทุนเพื่อประกอบการพิจารณาการจัดทำร่าง TOR ซึ่งคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 กำหนดประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนและเปิดขายเอกสารในเดือน ม.ค. 2562, ยื่นข้อเสนอเดือน ก.พ.-ส.ค. 2562, ลงนามสัญญาในเดือน ส.ค.- พ.ย. 2562 

และเข้าสู่การออกแบบรายละเอียดและขออนุมัติสิ่งแวดล้อมตามระเบียบการก่อสร้างอาคาร และก่อสร้าง เพื่อให้สามารถเปิดให้บริการบางส่วนในกลางปี 2564 ซึ่งจะเปิดให้บริการเต็มแปลง A ในปี 2566 สอดคล้องกับการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา โดยคาดว่า ร.ฟ.ท.จะมีผลตอบแทนจากการพัฒนาพื้นที่แปลง A ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนภายใต้กฎหมายไทยสัดส่วนเอกชนต่างชาติไม่เกิน 49%

“เปิดสายสีแดง และสถานีกลางบางซื่อ จะมีคนเกือบ 2 แสนต่อเที่ยวคนต่อวัน มีทั้งจากระบบรถไฟฟ้า และสำนักงาน โรงแรมในแปลง A ส่วนฝั่งตรงข้ามมี SCG ซึ่งมีกำลังซื้ออีก 8,000 คน โดยแปลง A อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาของรถไฟ โดยวันนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนไทยและต่างชาติ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี, จีน, อังกฤษ มาร่วมฟังกันมากมาย”

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) จัดทำ “แผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน” พื้นที่รวม 2,325 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 9 แปลง มีระยะการพัฒนา 3 ระยะ มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565, 2570 และ 2575 โดยจะนำร่องพัฒนาแปลง A ซึ่งตั้งอยู่บริเวณทิศใต้ของสถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้เป็น “ศูนย์กลางธุรกิจครบวงจร” มีอาคารสำนักงาน โรงแรม และพื้นที่การค้าปลีก โดยจะเปิดให้ภาคเอกชนและนักลงทุนที่สนใจร่วมลงทุนในรูปแบบ DBFOT (Design / Build / Finance / Operate / Transfer) ประเมินผลตอบแทนโครงการ (IRR) ที่ 12.6-18% ประมาณการณ์ผู้โดยสารที่สถานีกลางบางซื่อ ในปี 2564 จำนวน 208,000 คน/วัน ปี 2570 เป็น 320,000 คน/วัน, ปี 2575 เป็น 396,000 คน/วัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ร.ฟ.ท.ได้ศึกษาการพัฒนาพื้นที่ต่อไป ของพหลโยธิน โดยคาดว่าจะเป็น แปลง A, E, D ภายในปี 65 ระยะ 2 ในปี 2566-2570 พัฒนาแปลง C, F, G ระยะ 3 ปี 71-75 แปลง B, D, H, I ซึ่งแปลงต่อไป ที่ได้ศึกษาการพัฒนาและเตรียม เสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.พิจารณา คือ แปลง G (กม.11) และแปลง C (สถานีขนส่งหมอชิต 2)

สำหรับเอกชนที่เข้าร่วมสัมมา เช่น บ.ซีพีแลนด์, บ.เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด, บ.สิงห์ เอสเตท จำกัด, บ.ซีพีออล์ จำกัด, บ.เดอะมอลล์กรุ๊ป จำกัด, บ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด, บ.โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด, บ.บางกอกแลนด์ จำกัด, บ.ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด, บ.เอสซีจี ซีเมนต์ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด, บ.พร๊อพเพอร์ตี้เพอร์เฟค จำกัด, บ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด, บ.ศุภาลัย, บ.แสนสิริ, บ.อารียา, บ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี, บ.มิตซุย (ไทยแลนด์)

ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, แบงก์ ออฟ ไชน่า, เจแปนแบงก์ เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น