xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ตรวจโรงงานมะพร้าว งัดไม้แข็งจัดการพวกไม่แจ้งข้อมูล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“พาณิชย์” ลุยตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าว มีการนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งหรือไม่ พบส่วนใหญ่ร่วมมือ แต่มี 10 รายยังเฉย เตรียมใช้ไม้แข็งจัดการ เผยจะลงตรวจถึงโรงงานด้วย แจงการนำเข้าปี 60 ที่เพิ่ม เหตุไทยเจอโรคหนอนหัวดำทำผลผลิตเสียหาย แต่ปี 61 สถานการณ์ปกติ นำเข้าลดทันที ส่วนการลักลอบเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลแล้ว ระบุมาตรการนอกเหนือจากนี้ต้องรอคณะกรรมการพืชน้ำมันฯ เคาะ

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าว โดยขอให้ผู้นำเข้ารายงานผลการใช้มะพร้าวว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้ในการขออนุญาตนำเข้าหรือไม่ เพื่อติดตามมะพร้าวที่นำเข้าได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมตามที่แจ้งไว้จริง ไม่ใช่ถูกนำไปใช้ทำอย่างอื่นหรือขายต่อในประเทศ ซึ่งผู้นำเข้าที่มีอยู่ประมาณ 29 ราย ส่วนใหญ่ได้รายงานผลเข้ามาแล้ว คงเหลืออีกประมาณ 10 รายที่ไม่ได้รายงานผลการนำเข้า โดยหากไม่มีการรายงานเข้ามา กรมฯ จะมีมาตรการดำเนินการต่อไป เช่น การไม่ออกหนังสือรับรองการนำเข้า เป็นต้น และกำลังจะลงพื้นที่ไปตรวจสอบโรงงานผลิตกะทิและอาหารสำเร็จรูปที่ใช้มะพร้าวนำเข้าด้วย

ทั้งนี้ ในการนำเข้ามะพร้าว พบว่า ในช่วง 8 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ส.ค.) มีการนำเข้ารวม 195,303.75 ตัน ลดลง 27.03% มูลค่า 1,696.92 ล้านบาท แยกเป็นการนำเข้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ภาษี 0% ปริมาณ 167,723.31 ตัน มูลค่า 1,495.61 ล้านบาท นำเข้านอกโควตาภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ภาษี 54% ปริมาณ 27,580.48 ตัน มูลค่า 201.31 ล้านบาท

“การนำเข้าภายใต้ AFTA สามารถตรวจสอบได้ และกรมฯ กำลังตรวจสอบอยู่ การนำเข้าจึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้กระทบราคามะพร้าวในประเทศ ส่วนการนำเข้าภายใต้กรอบ WTO ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาผลิตแล้วส่งออก ซึ่งส่วนนี้ผู้นำเข้าสามารถขอคืนภาษีได้ จึงไม่กระทบเช่นเดียวกัน แต่ที่กระทบราคา น่าจะเป็นเรื่องของผลผลิตในประเทศที่เพิ่มขึ้น และอีกส่วนอาจมีการลักลอบนำเข้า ซึ่งกรมฯ ได้มีการประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเข้าไปดูแลและเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าแล้ว” นายอดุลย์กล่าว

ส่วนประเด็นการนำเข้าปี 2560 ที่เพิ่มขึ้น 420,971 ตัน และมีการระบุว่าเพิ่มขึ้น 115 เท่าจากปี 2559 ที่มีการนำเข้า 3,676 ตัน เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยข้อมูลกรมศุลกากร ปี 2559 มีการนำเข้ารวม 171,720 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2560 เพิ่มขึ้นเพียง 1.68 เท่า ซึ่งมีสาเหตุจากการระบาดของหนอนหัวดำ ทำให้มะพร้าวเสียหาย ผลผลิตลดลง จึงทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่พอปี 2561 โรคหนอนหัวดำแก้ไขได้ มะพร้าวในประเทศมีผลผลิตออกมามาก การนำเข้าก็ลดลง

สำหรับการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชต้องเป็นผู้พิจารณา ทั้งการใช้มาตรการสุขอนามัยพืช การกำหนดมาตรการให้ผู้นำเข้าซื้อมะพร้าวในประเทศตามสัดส่วนการนำเข้า ส่วนการจำกัดระยะเวลานำเข้าตามที่มีการเสนอ ต้องดูว่าผิดเงื่อนไข WTO หรือไม่ เพราะอาจถูกฟ้องร้องได้ ขณะที่มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) กรมฯ สามารถใช้ได้ แต่มีขั้นตอนดำเนินการ ต้องเปิดไต่สวนก่อน และใช้เวลาประมาณ 1 ปี แต่ถ้าเป็นกฎหมายของกระทวงเกษตรและสหกรณ์ สามารถใช้ได้เลย แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมาย ก็ต้องไปดูว่ามีสาเหตุจากอะไร


กำลังโหลดความคิดเห็น