xs
xsm
sm
md
lg

ส.ค้าปลีกจ่อยื่นอุทธรณ์กรมสรรพากร จี้เคลียร์ปมสอบตกตัวแทน”แวตรีฟันด์”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน 360 – สมาคมผู้ค้าปลีกไทย-บริษัทร่วมทุน3ยักษ์ค้าปลีกแวตรีฟันด์ จ่อยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อกรมสรรพากร กรณีไม่ได้รับอนุมัติเป็นตัวแทนคืนแวตรีฟันด์ จี้ตอบปัญหาคาใจให้เคลียร์ด้วย เป็นงง 3 จุดบริการของผู้ที่ได้รับ อยู่นอกศูนย์การค้าเมื่อชอปปิ้งแล้วหอบของพะรุงพะรังไปคืนแวตที่อื่น

ดร. ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯและบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อ บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์(ไทยแลนด์) จำกัด (โดยสมาคมฯเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทฯนี้ ซึ่งมีสมาชิกประกอบด้วยกลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มเดอะมอลล์และสยามพิวรรธน์ ) เตรียมทำหนังสือเพื่อยื่นอุทธรณ์ ต่อกรมสรรพากร ภายหลังจากที่บริษัทร่วมทุนดังกล่าว ไม่ผ่านการคัดเลือกจากกรมสรรพากรให้เป็นตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรอหนังสือแจ้งเป็นทางการจากทางกรมสรรพากรว่าบริษัทไม่ผ่านเพราะสาเหตุอะไร

ทั้งนี้กรมสรรพากร ได้ประกาศเมื่อเร็วๆนี้โดยอนุมัติให้ทางบริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด เป็นผ่านการคัดเลือก โดยมี 3 จุดบริการรองรับคือ สาขาลิโด้ สาขาแบงค็อกไนท์บาซ่าร์ และสาขาผดุงด้าวเยาวราช และเริ่มทดลองโครงการนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 31 มีนาคม 2562 เป็นเวลา 6 เดือน


อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่บริษัทร่วมทุนไม่ผ่านการอนุมัติอาจจะมาจาก การเสนอจุดคืนภาษีไป 5 จุด ซึ่งผิดหลักเกณฑ์ข้อกำหนดที่กรมสรรพากรต้องการไม่เกิน 3 จุด ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอให้ 5 จุดและพร้อมจะมีการเซ็นเอ็มโอยูกับกรมสรรพากรตั้งแต่เดือนเมษายนแล้ว แต่ก็ยกเลิกไป พร้อมกับมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดภายหลังให้เหลือพื้นที่บริการนำเสนอเพียง 3 จุดเท่านั้น


ดร. ฉัตรชัย ตั้งข้อสังเกตุถึงความไม่ชัดเจนของกรมสรรพากร ดังนี้ 1.มีประกาศเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2561 ว่า จะเปิดรับสมัครวันที่ 10-17 กันยายน 2561 ซึ่งการที่เราต้องใช้บริษัทร่วมทุนเป็นผู้เสนอพิจารณาครั้งนี้บริษัทเดียวไปยื่น 5 จุดตามที่เสนอ เพระว่า ถ้าวันนั้นเราแยกออกเป็นบริษัทจากพันธมิตร 4 ราย และไปยื่นทำไม่ได้เพราะว่าบริษัทนิติบุคคลต้องมีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท อยู่ในระบบแวต ไม่เป็นปัญหา สำคัญคือต้องจดวัตถุประสงค์บริษทด้วยว่าเป็นตัวแทนดำเนินการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งอันนี้คือปัญหา เพราะนี่เป็นโครงการแรก ไมเคยมีแบบนี้มาก่อนในไทย พาร์ทเนอร์4 รายมีบริษัทลูกเป็นร้อย ไม่มีบริษัทใดมีวัตถุประสงค์นี้เลย เพราะเป็นเรื่องใหม่เป็นครั้งแรก ถ้าต้องไปดำเนินการจดในวัตถุประสงค์ใหม่เพิ่มต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน ซึ่งเสร็จไม่ทันแน่นอน จึงต้องใช้บริษัทเดียวเสนอ 5 จุด


2.เมื่อเดือนสิงหาคม เสนอไปแล้ว 5 จุด มีการเซ็นรับทราบ 5 จุด ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 61ตรวจดูความพร้อม 5 จุด วันที่ 26 ทดสอบระบบพร้อม ว่าทั้ง 5 จุดสามารถรองรับและเอื้อต่อการบริหารจัดการโครงการดาวน์ทาวน์แวตรีฟันด์ฟอร์ทัวร์ริสต์ให้ประสบความสำเร็จได้ แต่ทำไมไม่บอกเราตั้งแต่ตอนนั้นว่าเราคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตั้งแต่วันที่ยื่นใบสมัคร


3.ทำไมต้องระบุว่า 1 บริษัทยื่นได้ไม่เกิน 3 จุดบริการ เพราะว่าในแง่นักกฎหมายหลายคนบอกว่า มันไม่จำเป็นต้องระบุในประกาศว่าต้องเป็นแค่ 3 จุด เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม และในช่วงการทดลองโครงการนี้ การที่มีกลุ่มตัวอย่างทดลองที่มากและหลากหลายน่าจะเกิดประโยชน์มากกว่าที่ระบุไว้แค่ 3 จุด เราไม่เข้าใจ


4.ตามประกาศบอกแจ้งผล 28 กันยายนซึ่งเป็นวันศุกร์ แต่ในความจริงกรมสรรพากรได้ประกาศในเว๊บไซต์ วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน และให้ผู้ได้รับอนุมัติเริ่มดำเนินการวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคมทันที ถามว่า ผู้ร่างหนังสือฉบับนี้มีความเชื่อมั่นอย่างไรว่าการที่มีการประกาศในวันอาทิตย์แล้ววันจันทร์ ผู้ได้รับอนุมัติจะเริ่มดำเนินการได้ทันที



นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สาเหตุที่นำเสนอ 5 จุดบริการเพราะว่า ทั้ง 5 ทำเลดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีการขอคืนแวตรีฟันด์จากนักท่องเที่ยวมากจากการออกใบกำกับภาษีแก่นักท่องเที่ยวหรือใบ ภ.พ.10 จากศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าทั้ง 5 ทำเลนั้น มากถึง 900,000 ใบ ในปี 2560 หรือประมาณ 60% จากการออกใบ ภ.พ.10 ทั่วประทศ และตั้งอยู่ตามแนวรถไฟฟ้า ตั้งแต่สยามสแควร์ไปถึงพร้อมพงษ์ เป็นทำเลยุทธศาสตร์ที่มีนักท่อ่งเที่ยวมากกว่า 300,000 คนต่อวันที่มาจับจ่ายในย่านนี้ ส่วนในช่วงปี 2559 พบว่า มีปริมาณการซื้อสินค้าของนักท่อ่งงเที่ยวประมาณ 38,000 ล้านบาท มีการขอคืนแวตรีฟันด์ประมาณ 1,900 ล้านบาท หรือ 5% ของมูลค่าการซื้อสินค้า

“เราไม่ค้านว่าให้จุดบริการในคอนวีเนียนสโตร์หรือเคาน์เตอร์ใครมาทำก็ได้ แต่ว่าเราสงสัยว่าทำไมต้องเป็น 3 จุดนั้น ที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าที่นักท่องเที่ยวไปชอปปิ้งเลย การไปตั้งอยู่ข้างนอกศูนย์ฯ ถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไม่มีประเทศใดที่ไหนเขาทำกัน นักท่องเที่ยวก็จะไม่ได้รับความสะดวก เพราะต้องไปขอคืนแวตอีกที่ และถือของสินค้าจำนวนมาก สร้างรความลำบากอีก ไม่จูงใจเลย ไม่เข้าใจว่าทำไมต้อง 3 จุดนั้น ซึ่งความจริงแล้วยิ่งมีจุดบริการมากก็ยิ่งดีมีประโยชน์ทำให้การทดลองมีข้อมูลที่มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ลงทุนเลย เอกชนลงทุนทั้งหมด”


นายวรวุฒิ ให้ความเห็นด้วยว่า จำนวนเงินในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องมียอดซื้อสินค้า 2,000 บาทขึ้นไป ยกเว้นสินค้าอาหาร และเป็นการคืนในสกุลเงินบาท เมื่อนักท่องเที่ยวได้คืนก็จะเกิดการใช้จ่ายต่อเนื่องอีก คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจอีกกว่า 4 พันล้านบาทในช่วงทดลองนี้ แต่การทดลองนี้อาจจะไม่สัมฤทธิ์ผลก็ได้ เพราะตัวอย่างดำเนินการที่ไม่เหมาะสม




กำลังโหลดความคิดเห็น