xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ใส่เกียร์เดินหน้าเซ็นออกแบบเทอร์มินัล 2 เร่ง TOR ดิวตี้ฟรี ต.ค.จบหมด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย  จำกัด (มหาชน) หรือทอท
ทอท.เร่งสรุปปมข้อกฎหมายต้นเดือน ต.ค. เคลียร์ร้องเรียนแบบเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ เซ็นสัญญา “ดวงฤทธิ์” และเตรียมสรุป TOR เปิดประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน ต.ค.รวมแพกเกจ พื้นที่อาคาร 1, 2 เบ็ดเสร็จ เผยปลายปีจ่อเปิดประมูลรันเวย์ 3 และขยายปีกอาคารตะวันตก มูลค่าอีกกว่า 2.8 หมื่นล้าน

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า คาดว่าจะเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลสิทธิบริหารจัดการพื้นที่ปลอดภาษีอากร (ดิวตี้ฟรี) และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ในเดือน ต.ค.นี้ เบื้องต้นคาดว่าจะนำพื้นที่ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ที่อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างเข้ามาเป็นสัญญาเดียวกันได้

ทั้งนี้ ทอท.ได้เตรียมร่าง TOR พื้นที่ดิวตี้ฟรีไว้ 2 แบบแล้ว คือ แบบที่รวมอาคาร 2 กับไม่รวมพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และอยู่ระหว่างเจรจากับ บมจ.การบินไทย (THAI) ว่าต้องการใช้พื้นที่เท่าไหร่ ซึ่งการบินไทยมีจำนวนผู้โดยสารของสายการบินราว 25-26 ล้านคน

โดยขณะนี้เหลือประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย หลังจากศาลปกครองมีคำสั่งกรณีการประมูลออกแบบ AOT อยู่ระหว่างรอผลการประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายเพื่อจะพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ข้อพิพาทต่างๆ รวมถึงด้านเทคนิค และประเด็นหมิ่นเหม่ต่อข้อกฎหมาย ก่อนที่จะอนุมัติและเซ็นสัญญากับกลุ่มนายดวงฤทธิ์ บุนนาค ผู้ชนะการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หลังจากมีข้อครหาการคัดเลือกผู้ออกแบบรายนี้

นายนิตินัยกล่าวว่า บอร์ด ทอท.ให้เดินหน้าต่อด้วยความรอบคอบและรัดกุม เบื้องต้นกระบวนการพัสดุ การมีตัวแทน คนกลางมาร่วม ค่อนข้างมั่นใจ แต่สุดท้ายหากคำวินิจฉัยสุดท้ายเป็นอีกแบบ ทอท.ต้องรับผิดชอบความเสียหาย โดยเพื่อความมั่นใจจะให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ทอท.พิจารณาอีกครั้งในต้นเดือนตุลาคม หากไม่มีอะไรจะเดินหน้าต่อโดยที่กลุ่มดวงฤทธิ์แจ้งยืนราคาถึงเดือนธันวาคม คาดว่าจะทันหากไม่ทันธันวาคม ก็ต้องเจรจา ซี่งต่างจากกลุ่ม SA ที่ไม่แจ้งว่าจะยืนราคาถึงเมื่อไหร่

ยันขั้นประกวดไอเดีย ยังไม่ได้ออกแบบ และไม่ระบุว่าใช้วัสดุที่เป็นไม้

ประเด็นเอกสารลอกแบบในการประกวดแบบมีเกณฑ์ในการพิจารณาชัดเจน และยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีการออกแบบ เป็นการประกวดไอเดียเพื่อนำไปออกแบบต่อ ก็มีการมองไปอีกว่าพอถูกท้วงติง ทอท.ไปแก้แบบภายหลังซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะตอนนี้ยังไม่ได้ออกแบบเลย ส่วนแนวคิดที่อยู่ในเงื่อนไขประมูล เช่น การจัดการผู้โดยสารอย่างไรให้เข้าออกพื้นที่รวดเร็ว, รูปแบบที่เหมาะกับการใช้งาน หัวข้อป้ายบอกทาง, พื้นที่โฆษณา, การจัดวางร้านค้า ร้านอาหาร ให้ใช้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเรื่องความสวยงามเป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์ที่น้อยมาก

ในทีโออาร์กำหนดว่าแบบที่ออกจะต้องถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนดทุกเรื่อง เรื่องใช้ไม้นั้นสอบถามกรรมการคัดเลือกยังไม่พบในไอเดียของกลุ่มดวงฤทธิ์ว่าเขียนระบุไว้ ไอเดียแบบรักษ์โลก เดินอยู่ในป่า มีแสงส่องลงมา

ส่วนประเด็นลอกแบบญี่ปุ่น เรื่องนี้ ทอท.ไม่ทราบเพราะเป็นเรื่องวิชาชีพ ขณะที่ในกรรมการคัดเลือกกำหนดให้มีสถาปนิกเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 3 คน โดยมีนายกสภาสถาปนิกอยู่ด้วย ในส่วนของ ทอท.ได้รัดกุมในกระบวนการ ซี่งคะแนนต่ำกว่า 80 ถือว่าตก ซึ่งสถาปนิกทุกคนให้กลุ่มดวงฤทธิ์ได้เกิน 80 คะแนน

ทั้งนี้ การไม่มีใบเสนอราคาอย่างเป็นทางการเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมีข้อความที่ทอท.ต้องการคำยืนยันจากผู้ประมูล เช่น ระยะเวลาการยืนราคา การวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะหากไม่มีคำยืนยันจากผู้เสนอราคา จะเกิดปัญหาได้ กรณีที่กลุ่มบริษัทร่วมทำงาน S.A. บอกไม่ได้รับเอกสารใบเสนอราคาตั้งแต่แรก เป็นไปได้ยาก เพราะการร่วมทำงานฯ เท่ากับมี 2 รายแล้ว จะไม่มีใบเสนอราคาทั้ง 2 ซองที่ซื้อหรือ และตอนรับซองไป เจ้าหน้าที่ ทอท.ชี้แจงว่าในซองมีเอกสารสำคัญอะไร มีการเซ็นรับซองด้วย เว้นแต่ไม่มีสมาธิในการฟังคำชี้แจง แต่กลับไปแล้วต้องเปิดดูได้ว่าขาดอะไรเพราะมีการเขียนไว้ด้านในอีก แบบนี้เท่ากับไม่ฟัง และไม่อ่านในซองด้วย

“เราทำอย่างรัดกุมเรื่องกระบวนการ มีสถาปนิกมาช่วยดู เพราะ ทอท.ตอบเองไม่ได้ว่าลอกแบบหรือไม่ ส่วนจะชอบหรือไม่ เป็นเรื่องส่วนบุคคลกันแล้ว เราได้พูดคุยกันเองว่ากรณีแบบ SA เป็นกระจก ถือว่าลอกแบบเทอร์มินัล 1 หรือไม่ หรือทำแบบเป็นไทย แต่ไม่รักษ์โลก เดี๋ยวก็จะมีมนุษย์รักษ์โลกมาติอีก ส่วนการบำรุงรักษา คณะกรรมการได้ท้วงติงซึ่งต้องมีการปรับแก้ตามข้อท้วงติง” นายนิตินัยกล่าว

นายนิตินัยกล่าวว่า ถ้าใช้อารมณ์ ไม่ใช้กฎระเบียบ ยอมรับอยากได้แบบแรก ซึ่งการที่ไปยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีแล้วจะให้ ทอท.เปลี่ยนมาเลือกตามอารมณ์ก็ไม่ได้ ต้องทำตามเกณฑ์

ขณะที่งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาทนั้น คาดว่าจะเปิดประมูลและตอกเข็มปลายปี 62 ใช้เวลาก่อสร้าง 25 เดือน เนื่องจากจะใช้เวลาออก 10 เดือน เปิดให้บริการปี 65 และในช่วงเดือน ธ.ค. 61 คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลงานก่อสร้างทางวิ่งอากาศยาน (Runway) เส้นที่ 3 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่างาน 2.2 หมื่นล้านบาท (รวมค่าชดเชยผลกระทบด้านเสียง) และงานก่อสร้างพื้นที่ส่วนต่อขยายด้านตะวันตก (West Wing) ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 มูลค่างาน 6.6 พันล้านบาท

โดยขณะนี้ทั้ง 3 โครงการดังกล่าว รวมมูลค่า 7.06 หมื่นล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ด สศช.) และคาดว่าจะนำเสนอต่อ ครม.ปลายปีนี้

นายเอนก ธีระวิวัฒน์ชัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวยืนยันว่า เงื่อนไขทีโออาร์การคัดเลือกผู้ออกแบบกำหนด ให้จัดทำแบบที่ก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ภายใต้งบประมาณที่กำหนด หากเกินจะไม่รับแบบ, เทคนิคสามารถก่อสร้างได้ในเวลาที่กำหนด หากเกินเวลา ไม่รับแบบ, และต้องถูกต้องตามกฎหมาย, พื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่าที่กำหนด, ส่วนค่าบำรุงรักษา พบว่ากลุ่มดวงฤทธิ์ถูกตัดแต้มในหัวข้อนี้ และกรรมการตรวจการจ้างต้องดูว่าจะปรับอย่างไรให้ลดการบำรุงรักษาลง ข้อจำกัดรัดกุม การตรวจรับงานละเอียดทุกด้าน

ทั้งนี้ ตามแผนเดิม ทอท.จะเปิดประมูล Runway เส้นที่ 3 ในเดือน พ.ย. ขณะนี้รอกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ซึ่งรอนำเข้าคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) อีกครั้งหลังได้ตอบข้อซักถามมา 2 ครั้งแล้ว โครงการนี้จะใช้เวลาก่อสร้าง 33 เดือน คาดเปิดใช้ในปี 65 ซึ่งหากกระบวนการ EHIA ยังไม่ผ่านก็จะยังไม่สามารถลงนามได้ตาม ม.44 ขณะที่งานก่อสร้าง West Wing จะปรับแบบจากเดิมนำแบบใช้สร้างส่วนต่อขยายด้านตะวันออก (East Wing) ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ใช้เวลาก่อสร้าง 30 เดือน แล้วเสร็จในปี 64


กำลังโหลดความคิดเห็น