xs
xsm
sm
md
lg

ช้าไม่ได้แล้ว “ศิริ” ลั่นเปิดยื่นข้อเสนอประมูลเอราวัณ-บงกช พรุ่งนี้ “ส.อ.ท.” หนุนหวั่นกระทบอีอีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ศิริ” เมินกลุ่มคนคัดค้านประมูลเอราวัณ-บงกช ลั่นเหลือเวลาอีกแค่ 3 ปี ช้ากว่านี้ไม่ได้แล้วจะกระทบความมั่นคงด้านพลังงานแน่ เดินหน้าตามกำหนดเวลาพรุ่งนี้ (25 ก.ย.) เปิดรับข้อเสนอการประมูลตามเดิม ตั้งแต่ 8.30-16.30 น. วอนกลุ่มค้านเห็นต่างพร้อมชี้แจง แต่ดีเบตไม่ใช่เรื่องของราชการ ขณะที่ ส.อ.ท.ตบเท้าหนุนเดินหน้า ชี้ ล่าช้าอาจกระทบโรงไฟฟ้า 10 โรง




นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน ถึงแนวทางการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จำเป็นที่จะต้องเดินหน้าตามขั้นตอนที่กำหนดไว้โดยในวันพรุ่งนี้ (25 ก.ย.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเปิดให้ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเข้ายื่นข้อเสนอการประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น. เป็นต้นไป แม้ว่าจะมีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยก็ตาม เนื่องจากหากช้าไปกว่านี้จะกระทบต่อความมั่นคง

“แหล่งก๊าซเอราวัณจะสิ้นสุดสัมปทานวันที่ 23 เม.ย. 2565 ส่วนบงกชสิ้นสุด 23 เม.ย. 2565 และ มี.ค.66 เดิมนั้นเราจะต้องเร่งหาผู้ประกอบการรายใหม่ให้แล้วเสร็จตามแผนงานเดิมต้องดำเนินงานให้ได้ผู้ประกอบการรายใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน 5 ปี แต่ความล่าช้าที่เกิดขึ้นทำให้เราเหลือเวลาเพียง 3 ปี ซึ่งปัจจุบัน 2 แหล่ง มีแท่นผลิต 278 แท่น รวมกันต้องมีการส่งมอบการผลิตเพื่อให้ต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลาหากช้าไปกว่านี้ก็จะมีปัญหาจึงอยากขอความกรุณา หากประท้วงหรือทำกิจกรรมใดๆ ก็ช่วยรักษาความสงบให้ไทยจะดีกว่า ส่วนความเห็นต่างยินดีที่จะชี้แจง แต่ไม่ใช่การจัดดีเบต เพราะคิดว่านอกขอบเขตของราชการ เพราะข้าราชการต้องทำงานตามระเบียบที่รัฐกำหนดไว้” นายศิริ กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้าร่วมประมูลมีแหล่งเอราวัณ 4 ราย ได้แก่ 1. เชฟรอน 2. ปตท.สผ. 3. มูบาดาลา และ 4. โททาล ส่วนแหล่งบงกช มี 3 ราย ได้แก่ 1. เชฟรอน 2. ปตท.สผ. 3. มูบาดาลา ดังนั้นก็คงจะต้องติดตามว่าสุดท้ายจะมีการยื่นประมูลในแต่ละแหล่งเป็นอย่างไรที่ชัดเจนในวันที่ 25 ก.ย.นี้ โดยการยื่นจะประกอบด้วย 4 ซองข้อเสนอ

ได้แก่ ซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรตามกฎหมาย ซองที่ 2 การยอมรับเงื่อนไขให้ภาครัฐเข้าร่วมในสัดส่วน 25% ซองที่ 3 ข้อเสนอทางเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนการลงทุน แผนการพัฒนาแหล่ง แผนช่วงรอยต่อ และแผนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซองที่ 4 ซองด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ จากนั้นจะมีการพิจารณาข้อเสนอทั้งหมดให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบภายในปลายเดือน พ.ย.นี้ และลงนามในสัญญาภายใต้ PSC ภายในกุมภาพันธ์ 2562

ปัจจุบัน 2 แหล่งมีการผลิตก๊าซฯรวม 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งถือเป็นแหล่งใหญ่ของประเทศดังนั้น เพื่อให้การผลิตต่อเนื่องภายใต้การประมูลจึงกำหนดเงื่อนไขสำคัญคือต้องให้รายที่เข้ามาต้องมีการผลิตขั้นต่ำ 2 แหล่งรวมกันไม่น้อยกว่า 1,500 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ขณะเดียวกัน ราคาจำหน่ายก๊าซต้องต่ำกว่าราคาก๊าซในอ่าวไทย เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าของประเทศ การจ้างงานกำหนดพนักงานคนไทย ในสัดส่วน 80% ในปีแรก และอย่างน้อย 90% ในปีที่ 5 ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ใน TOR นอกจากนั้น ยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท และยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวหลังเข้าพบรมว.พลังงาน เวลา 11 .00 น. ว่า ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนให้เดินหน้าเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกชให้สำเร็จ เพราะหากล่าช้ากำลังการผลิตก๊าซจะหายไปทั้งหมด จะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าราว 10 แห่งและยังกระทบให้แอลพีจีขาดแคลน แม้จะนำเข้าแอลเอ็นจีได้ แต่ก็ไม่เพียงพอ และจะทำให้ค่าไฟแพงขึ้น อุตสาหกรรมเป้าหมายที่วางไว้ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็จะไม่เกิดขึ้น

“เราโปรโมตอีอีซี แต่หากมีปัญหาด้านพลังงานใครจะมาลงทุน และถามว่า ที่ผ่านมา PSC นี้ ก็เป็นไปตามข้อเรียกร้องของผู้คัดค้าน แต่หาจะเป็นสัญญาจ้างบริการ (SC) ผมก็คิดว่าคงไม่พออีก ทุกอย่างถามว่าหากจะเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนไปเพื่อใคร ทั้งที่ขั้นตอนทำงานรัฐก็มีการดูแลอย่างเป็นระบบ” นายบวร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น