xs
xsm
sm
md
lg

แปรสภาพพื้นที่อ่าวทามริมแม่น้ำชี เป็นผืนแผ่นดินทองตลอดปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พื้นที่ลุ่มริมแม่น้ำชีครอบคลุม 3 ตำบล ได้แก่ ต.สหธาตุ ต.สร้างถ่อ และ ต.เขื่องใน ของ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี จำนวน 25,000 ไร่ เป็นพื้นที่เรียกตามภาษาถิ่นว่า “ทาม”

พื้นที่ 25,000 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ชลประทานโดยอาศัยสถานีสูบน้ำ 13,400 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาศัยน้ำฝนบ้าง น้ำจากหนองน้ำที่เรียก “กุด” ที่ไหลผ่านลงมาบ้าง

หน้าน้ำ ชาวบ้านทำนาปี แต่มักถูกน้ำหลากท่วมเสียหายเป็นประจำ ชุมชนโบราณกว่า 200 ปีในแถบนี้ในอดีตมักมีเรือสำหรับจับปลาแทบทุกหลัง พอหน้าแล้งทำนาปรัง โดยอาศัยน้ำจากกุดซึ่งกระจายหลายจุดในพื้นที่

หน้าน้ำปีนี้ น้ำท่วมพื้นที่อ่าวทามเกือบทั้ง 25,000 ไร่ นาข้าวเสียหายไม่ได้ผลเลย เปรียบว่าทำนาปี 5 ปี ได้ผลเพียง 1 ปี แต่เกษตรกรก็ยังยึดถือทำกัน ราวกับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แล้วไปหวังผลจริงในฤดูแล้งจากนาปรัง ซึ่งได้รับผลผลิตสูงถึง 800-1,200 กิโลกรัม/ไร่ เนื่องจากตะกอนแร่ธาตุที่ไหลลงมาท่วมในพื้นที่อ่าวทามช่วงฤดูน้ำหลากส่งผลให้ผืนดินอุดมสมบูรณ์

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานพิจารณาเลือกพื้นที่อ่าวทามดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐลุ่มน้ำย่อยแม่น้ำชี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือเป็นพื้นที่ราบลุ่มติดลำน้ำชี ประสบปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ขณะเดียวกัน พอถึงฤดูแล้งเกษตรกรก็ยังไม่สามารถทำกินได้สะดวก ยังคงมีน้ำขังระบายออกจากพื้นที่การเกษตรไม่ได้ โดยวางเป้าหมายแก้ไขปัญหาครอบคลุมทั้งพื้นที่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานที่ติดต่อกันเป็นผืน 25,000 ไร่

“ถ้ากระบวนการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแบบประชารัฐประสบความสำเร็จ เรามีแผนจะขยายผลไปยังพื้นที่อื่นที่มีลักษณะเป็นทามเช่นเดียวกัน ซึ่งมีอยู่มากในภาคอีสาน”

ทางด้านนายสมชาย คณาประเสริฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน เล่าว่า จากการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อ่าวทามดังกล่าว พบแนวทางแก้ไขปัญหาโดยชุมชนเองโดยในฤดูแล้งที่ประสบปัญหาน้ำแช่ขัง ไม่อาจทำนาปรังได้ทันที โดยกำหนดแผนงานเร่งด่วนอันดับต้นๆ ด้วยการเสนอขุดลอกร่องเชื่อมระหว่างกุดต่อกุด ที่ตื้นเขินและมีการบุกรุก เช่น ร่องเชื่อมกุดปลาสร้อย-กุดน้ำเค็ม ซึ่งเกษตรกรบริเวณนั้นกว่า 100 ไร่ไม่มีโอกาสทำนาเลย ไม่ว่านาปีหรือนาปรัง โดยใช้งบประมาณ 4-5 ล้านบาท

“แผนงานที่เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีมีหลายแผนงาน ใช้งบประมาณกว่า 416 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องเร่งรัดเฉพาะโครงการที่เร่งด่วนจริงๆ ก่อน ซึ่งผู้ว่าฯ เห็นชอบแล้วจะได้บรรจุเป็นงบประจำจังหวัดต่อไป”

การขุดลอกร่องชักร่องเชื่อมดังกล่าว นอกจากระบายน้ำแช่ขังออกจากพื้นที่ชลประทานได้เร็ว ยังกลายเป็นน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทานที่อยู่ด้านท้ายใช้ทำนาปรังด้วยเช่นกัน

นายสมชายกล่าวว่า กระบวนการมีส่วนร่วมฯ ยังมีแผนงานสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือการขุดลอกกุดสำคัญๆ 7-8 แห่ง ซึ่งจะเพิ่มปริมาณน้ำจากกุดเล็กกุดใหญ่ทั้งหมดเกือบ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะใช้ประโยชน์ในฤดูแล้งได้อีกมากมาย แต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ต้องทยอยบรรจุในงบของจังหวัดต่อไป

ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก นายสมชายกล่าวว่า กรมชลประทานกำลังวางแผนนำกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ลุ่มต่ำที่เผชิญปัญหาน้ำท่วมทุกฤดูน้ำหลาก โดยเฉพาะทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก มาใช้เป็นแม่แบบในการแก้ปัญหา แต่ยังต้องรอฟังความเห็นของชาวบ้านก่อน

ทั้งนี้ ต้องปรับปฏิทินการทำนาใหม่เช่นกัน โดยเริ่มมาปลูกในเดือนเมษายน แล้วเก็บเกี่ยวกรกฎาคม-สิงหาคม เพื่อหนีน้ำหลาก ซึ่งจะท่วมหนักในช่วงปลายสิงหาคม-ตุลาคม โดยส่งน้ำจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ โรยลงมาผ่านจังหวัดร้อยเอ็ดและยโสธรก่อนผ่านพื้นที่อ่าวทาม คาดว่าต้องใช้ปริมาณน้ำไม่น้อยกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร

“กรมชลประทานประสบความสำเร็จทั้งทุ่งบางระกำและทุ่งเจ้าพระยา จึงคิดวางแผนใช้บางระกำโมเดล มาทำลองใช้ที่นี่ ถ้าได้ผลจะขยายไปยังพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชีได้อีกมากมาย” นายสมชายกล่าว

กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาลุ่มน้ำที่มีความซับซ้อนของปัญหาและแก้ไขด้วยคนในชุมชนเองในลักษณะการระเบิดจากภายใน ทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนและชุมชนเองเข้มแข็งมากขึ้นตามลำดับ ปัญหาน้ำในพื้นที่อ่าวทามก็เช่นกันที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากคนในชุมชนเรียนรู้ปัญหาด้วยตัวเองและพยายามแก้ไขปัญหานั้นด้วยตัวเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น