xs
xsm
sm
md
lg

กรมชลฯ คว้ารางวัลเลิศรัฐของ ก.พ.ร.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมชลประทานคว้า 2 ดีเด่นรางวัลเลิศรัฐจากการจัดประกวดของ ก.พ.ร. ทั้งรางวัลเปิดใจใกล้ชิดประชาชน (Open Governance) และรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change) แถมยังมีรางวัลชมเชยสำหรับกลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย จ.เพชรบุรี และประเภทบุคคลโครงการส่งน้ำฯ พระพิมล จ.นครปฐม

นายสุจินต์ หลิ่มโตประเสริฐ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จัดประกวดรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2561 ซึ่งเป็นรางวัลเกียรติยศมอบให้หน่วยงานรัฐที่มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จ มีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานรัฐทั้งปวงนั้น ผลการพิจารณาตัดสินปรากฏว่ากรมชลประทานได้รับรางวัลดีเด่น สาขาการมีส่วนร่วม 2 รางวัลด้วยกัน คือ ประเภทรางวัล เปิดใจใกล้ชิดประชาชน (Open Governance) และประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effective Change)

ทั้งนี้ จัดประกวดรางวัลเลิศรัฐ แบ่งเป็น 3 สาขา ได้แก่ สาขาการบริการภาครัฐ สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ และสาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม โดยจัดลำดับรางวัลดีเด่นเป็นรางวัลสูงสุด รองลงมาเป็นรางวัลดี และรางวัลชมเชย ตามลำดับ

รางวัลดีเด่นประเภทเปิดใจใกล้ชิดประชาชน ตัวอย่างความสำเร็จในการดำเนินงาน คือการดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของกรมชลประทาน เช่น การให้ข้อมูลที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ผ่านทางเว็บไซต์กรม กรณีการรายงานสถานการณ์น้ำรายวัน โดยศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะที่ให้ข้อมูลแบบ ณ ปัจจุบัน (Real time) หรือการเปิดให้บริการร้องเรียนผ่านทางสายด่วน 1460 ซึ่งประชาชนสามารถร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับน้ำ และการขอโครงการต่างๆ

ส่วนรางวัลดีเด่นประเภทสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม เป็นผลงานการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนของโครงการอ่างเก็บน้ำดอยงู จ.เชียงราย ซึ่งจากสภาพเดิมที่มีการแย่งน้ำทำนาก็สามารถแก้ไขจนพื้นที่ 6 ตำบลของ อ.เวียงป่าเป้า ได้แก่ ต.แม่เจดีย์ ต.เวียงกาหลง ต.บ้านป่างิ้ว ต.บ้านโป่ง ต.เวียง ต.สันสลี มีน้ำทำกินทั่วถึงเป็นธรรม โดยอาศัยการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งใน และนอกกรมชลประทาน

“กลุ่มผู้ใช้น้ำยังมีเงินทุนใช้ซ่อมแซมอาคารชลประทานได้เอง มีรายได้สุทธิต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า ผลผลิตข้าวนาปี 943 กิโลกรัม/ไร่ มากกว่าค่าเฉลี่ยของภาคเหนือ และที่สำคัญจากที่เคยใช้น้ำทำนา 1,400 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ เหลือเพียง 800 ลูกบาศก์เมตร/ไร่ ทำให้สามารถมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ” นายสุจินต์กล่าว

นอกจากนั้น ในสาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ (Engaged Citizen) ซึ่งเป็นรางวัลมอบให้กลุ่มบุคคลหรือบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนผลักดันการดำเนินงานหรือพัฒนาบนฐานการทำงานแบบมีส่วนร่วม ปรากฏว่ากลุ่มผู้ใช้น้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ได้รับรางวัลในฐานะกลุ่มบุคคล และนายวันชัย สวัสด์แดง จากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล จ.นครปฐม ได้รับรางวัลบุคคลด้วย

“ก.พ.ร.ขอให้ส่วนราชการทำหน้าที่คล้ายๆ แมวมองส่งเข้าประกวด กรมชลประทานส่งไป 1 กลุ่มผู้ใช้น้ำ และ 3 บุคคลดีเด่น ปรากฏว่าได้รางวัลชมเชยมา 2 รางวัล” นายสุจินต์กล่าว และว่า รางวัลดังกล่าวจะทำให้ผู้ที่ได้รับเกิดความภาคภูมิใจ และทำให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับเกิดความมุ่งมั่นที่จะสร้างผลงานการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น