xs
xsm
sm
md
lg

กกร.เล็งยื่น สนช.ทบทวนร่าง พ.ร.บ.กำจัดซากอิเล็กทรอนิกส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“กกร.” เตรียมยื่นหนังสือถึง “สนช.” หลังกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ร้องคัดค้านร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. ...ที่ตัดเอากองทุนกำจัดซากออกไป ยันต้องการให้คงเดิม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า เร็วๆ นี้ทาง กกร.จะนำส่งหนังสือร้องเรียนของกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิสก์โทรคมนาคม ส.อ.ท.ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ทบทวนร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. ...โดยขอให้คงร่าง พ.ร.บ.เดิมที่มีการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ

“อุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศถึง 20% มูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่าปีละ 1.9 ล้านล้านบาท หากบังคับใช้แล้วเกิดปัญหาจะกระทบภาพรวมได้ ซึ่ง กกร.ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวและให้ทางกลุ่มไฟฟ้าฯ ไปจัดทำรายละเอียดส่งมาเพื่อที่ กกร.จะนำเรื่องส่งไปยัง สนช.ต่อไป ซึ่งการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นได้มีการตัดบางมาตราออกไปโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการตั้งกองทุนฯ ซึ่งจะเป็นการจัดตั้งโดยรัฐก็ได้หรือเอกชนก็ได้ ซึ่งเข้าใจว่าการที่กฤษฎีกาตัดออกน่าจะเพราะที่ผ่านมาการจัดตั้งกองทุนฯ มีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส” นายสุพันธุ์กล่าว

ทั้งนี้ เดิม ส.อ.ท.ได้เสนอจัดตั้งกองทุนฯ มีวัตถุประสงค์ให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม กล่าวคือ ภายใน 1 ปีแรกกำหนดให้ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ จะต้องขึ้นทะเบียนต่อกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดส่งแผนความรับผิดชอบในการจัดการซากผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองผลิตและจำหน่าย และมีส่วนรับผิดชอบ “ค่าใช้จ่าย” ในการกำจัดซาก โดยจ่ายเงินสมทบเข้า “กองทุนสิ่งแวดล้อม" เพื่อนำเงินมาใช้เป็นค่าบริหารจัดการสนับสนุนค่าใช้จ่ายของ “ศูนย์รับคืนซาก” สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเรื่องการนำกลับมาใช้ใหม่และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนการทิ้ง รับคืน รวบรวม และขนส่งซาก กำหนดให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่จัดให้มี “ศูนย์รับคืนซาก” ขึ้นจังหวัดละ 1 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ จัดให้มีเขตละ 1 แห่ง

นายสุพันธุ์กล่าวว่า กลุ่มไฟฟ้าฯ ส.อ.ท.ยืนยันว่าเห็นด้วยกับร่างดังกล่าวแต่ไม่ควรตัดมาตราที่เป็นปัญหาว่าด้วยความรับผิดชอบจากซากผลิตภัณฑ์ ซึ่งเดิมกำหนดให้มีกองทุน และกำหนดให้เอกชนทั้งผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย โรงงานต้องขึ้นทะเบียน จ่ายเงินเข้ากองทุนและรับผิดชอบบริหารจัดการ แต่ร่างใหม่ได้ตัดมาตรานี้ออกไปทั้งหมด เขียนไปว่า “ให้เฉพาะผู้ผลิตต้องมาบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์กันเอง” ซึ่งในประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SMEs อาจทำไม่ได้และจะต้องได้รับโทษที่รุนแรงขึ้น ทั้งยังกำหนดให้เป็นโทษอาญา มีอัตราค่าปรับที่สูงขึ้น จากร่างเดิมที่กำหนดไว้ 100,000-200,000 บาท ก็ปรับขึ้นเป็นสูงสุด 500,000 บาท และยังมีโทษจำคุกอีก 2 ปีด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น