xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ยันระบายน้ำเขื่อนปากมูลไม่กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กฟผ.แจงการเปิดบานประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานไม่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ท้ายน้ำ เร่งลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยต่อเนื่อง

นายณัฐวุฒิ แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีฝนตกชุกหนาแน่นบริเวณลุ่มน้ำโขงและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำโขงมีมากกว่าทุกปี ทำให้เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ริมฝั่งโขง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ กฟผ.ขอยืนยันว่าอุทกภัยดังกล่าวไม่ได้มีสาเหตุมาจากการเปิดบานประตูระบายน้ำของเขื่อนปากมูล เนื่องจาก กฟผ.ได้เริ่มเปิดบานประตูระบายน้ำเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ตามมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล (เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2561) โดยมวลน้ำส่วนใหญ่ได้ระบายลงสู่แม่น้ำโขงในช่วงวันที่ 21-28 กรกฎาคม 2561 และได้ทยอยเปิดบานประตูจนสุดบานเมื่อเช้าวันที่ 29 กรกฎาคม 2561 ซึ่งภายหลังการเปิดบานประตูระบายน้ำก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดอุทกภัยแต่อย่างใด

ส่วนน้ำโขงที่เอ่อล้นตลิ่งที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี เริ่มกระทบในวันที่ 30 กรกฎาคม 2561 และเอ่อท่วมสูงสุดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ที่ระดับน้ำ 104.43 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ซึ่งสูงกว่าตลิ่งประมาณ 90 เซนติเมตร และเริ่มลดลงตามอิทธิพลของน้ำจากแม่น้ำโขงตอนบน โดยระดับแม่น้ำโขงที่สูงขึ้นในปีนี้เกิดจากมีปริมาณฝนตกหนักมากในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบน และมีการระบายน้ำจากเขื่อนในประเทศจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบนด้วย ซึ่ง กฟผ.ได้เร่งให้ความช่วยเหลือโดยเปิดศูนย์ประสานงานและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งให้การสนับสนุนและประสานงานร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานีอย่างใกล้ชิด เบื้องต้นได้มอบข้าวกล่องวันละจำนวน 900 กล่อง และน้ำดื่มวันละจำนวน 2,400 ขวด เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อน กฟผ.ทั่วประเทศที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แยกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 57 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 5,849 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันตก เขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 86 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 2,536 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนห้วยกุ่ม มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 34 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 13 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ เขื่อนรัชชประภา มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 78 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 1,237 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนบางลาง มีปริมาณน้ำกักเก็บร้อยละ 58 ของความจุ สามารถรองรับน้ำได้อีก 615 ล้าน ลบ.ม.


กำลังโหลดความคิดเห็น