xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานจับมือ IEA หนุนพลังงานทดแทน ดันโซลาร์ภาคประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานร่วมมือทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) วางแผนพัฒนาพลังงานระยะยาว ชูพลังงานทดแทนเร่งวางกรอบพัฒนาโซลาร์ภาคประชาชน “ศิริ” ลั่นสิ้นปีสรุปยืนยันไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น ด้าน IEA ชี้เทรนด์โซลาร์ฯ ต้นทุนอีก 3 ปีข้างหน้าจะต่ำลงได้อีก

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการหารือกับ นายฟาร์ตี้ ไบโรล์ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก 14.5% เป็น 30% ให้ได้ภายในปี 2573 โดยอยู่ระหว่างการบรรจุไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดทำและจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังการผลิตของประเทศ (พีดีพี) ฉบับใหม่เช่นกัน โดยเฉพาะจะเน้นส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) ภาคประชาชน

“ยืนยันว่ารัฐจะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมโซลาร์ภาคประชาชนใดๆ ตรงกันข้ามเราจะวางระบบบริหารจัดการที่จะรองรับมากขึ้นที่จะผลิตเองใช้เองและที่เหลือสามารถขายเข้าระบบที่เชื่อมโยงกันได้ ซึ่งแนวทางนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นจึงต้องรอสรุปสิ้นปีอีกครั้ง” นายศิริกล่าว

สำหรับบทบาท IEA ได้มีส่วนสำคัญในการจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานในสาขาต่างๆ เข้ามาให้คำปรึกษากับไทย โดยเฉพาะในด้านการวางแผนแม่บทการพัฒนาพลังงานระยะยาวของไทย 3 ด้านหลัก คือ 1. การบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่มากขึ้น 2. การจัดทำศูนย์ข้อมูลพลังงานที่จะขยายผลไปสู่ระบบ Big data 3. ศึกษากรอบ โครงการโซลาร์ภาคประชาชน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา IEA ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกี่ยวกับประมาณการไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จะเข้าระบบในอนาคต ซึ่งใช้ระยะเวลา 1 ปีที่ล่าสุดได้จัดทำแล้วเสร็จและจะเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไป แต่หลังจากนี้ IEA จะร่วมกับ กฟผ.ศึกษาระยะที่ 2 เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติในการรับซื้อพลังงานทดแทนว่าจะรับซื้อมากน้อยแค่ไหน เป็นประเภทใดบ้าง โดยให้เสร็จภายใน 1 ปี

นายฟาร์ตี้ ไบโรล์ ผู้อำนวยการทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) กล่าวว่า ขณะนี้ความต้องการพลังงานในไทยมีการเติบโตตามทิศทางเศรษฐกิจและบทบาทของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จะมีมากขึ้น และเป็นความท้าทายของไทยในการนำเข้ามาเพราะแหล่งผลิตก๊าซฯ ในประเทศเริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม พลังงานทดแทนมีบทบาทสำคัญที่จะเข้ามาเสริมความมั่นคงที่ไทยมีแนวโน้มจะจัดหาส่วนนี้มากขึ้น

“ขณะนี้ต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์ 3 ปีที่ผ่านมาลงถึง 30% แนวโน้มในอีก 3 ปีข้างหน้าน่าจะลดลงได้อีกซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาได้มากขึ้น ซึ่งอดีตนั้นหากพูดเรื่องนี้จะมองว่าเป็นเรื่องของความฝันหรือโรแมนติก แต่วันนี้คือ Real Business” นายฟาร์ตี้กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น