xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.จ่อใช้โมเดลญี่ปุ่นตั้งตลาดกลางผลไม้ในนิคมฯ สมาร์ทพาร์ค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กนอ.เร่งศึกษาจัดตั้งตลาดกลางซื้อขายผลไม้ในนิคมฯ สมาร์ทพาร์ค สนองนโยบายระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (EFC) ดันไทยมหานครผลไม้โลก เล็งนำรูปแบบตลาดกลางโอตะ โตเกียว ปรับใช้ จ่อเสนอรัฐใช้กลไกสหกรณ์บริหาร

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้ศึกษารูปแบบตลาดกลางโอตะ (Ota Wholesale Market) กรุงโตเกียว ซึ่งเป็นตลาดกลางที่มีการซื้อขายผักผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับมากสุดในญี่ปุ่น เพื่อนำมาปรับใช้กับการพัฒนาโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) หรือ EFC ตามนโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายให้ภาคตะวันออกเป็นตลาดกลางประมูลผลไม้คุณภาพสูงซึ่งจะตั้งอยู่ที่นิคมสมาร์ทพาร์ค จ.ระยอง คาดว่าจะเปิดดำเนินการเต็มระบบได้ใน 2-3 ปีข้างหน้า

“ตลาดกลางโอตะจะมีปริมาณซื้อขายผลไม้กว่า 3,000 ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับตลาดกลาง EFC ที่เราจะทำตามยุทธศาสตร์รัฐบาลที่ต้องการให้ไทยเป็นเมืองมหานครผลไม้ของโลกเพื่อยกระดับราคาผลไม้ให้สูงขึ้น ซึ่งภาคตะวันออก 8 จังหวัดรวม 3 จังหวัดในเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) มีปริมาณผลไม้มากกว่า 50% และส่งออกมากสุดในไทย ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานศึกษารายละเอียดต่างๆ อยู่” นายพสุกล่าว

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ กนอ.กล่าวว่า นิคมฯ สมาร์ทพาร์คได้จัดส่วนหนึ่งไว้เป็นอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เนื่องจากพื้นที่มีพลังความเย็นจากก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาใช้ในกระบวนการปรับปรุงคุณภาพผลไม้เพื่อการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมโยงกับสนามบินอู่ตะเภาที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในอนาคต

“โซนพื้นที่รองรับจะเตรียมไว้ 100 ไร่ โดย 30 ไร่ที่จะเป็นตลาดกลางและอีก 70 ไร่จะเป็นโซนให้เอกชนตั้งโกดังพักสินค้าเพื่อให้สอดรับกับตลาดกลาง ซึ่งการที่เรามาดูตลาดโอตะก็เพื่อให้ทราบว่าองค์ประกอบตลาดกลาง ระบบบริหารจัดการ ระบบสาธารณูปโภค ที่จะนำไปปรับใช้” นายวีรพงศ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตลาดกลางในญี่ปุ่นมีกฎหมายและข้อกำหนดที่ชัดเจนและมีผู้แทนบริหารจัดการ เช่นตลาดโอตะจะมีตัวแทนบริหาร 4 ราย และมีผู้ค้าขายรายย่อยอีก 167 รายที่จะรับช่วงสินค้ากัน นอกจากนี้ยังมีระบบประกันคุณภาพสินค้า เป็นต้น ก็คงจะเป็นแนวคิดในการนำเสนอรัฐบาล

“การที่เราจะต้องออกกฎหมายมารองรับตลาดกลางหรือไม่นั้นคงต้องดูประกอบกัน ถ้ามีการรวมกลุ่มกันและใช้ระบบสหกรณ์บริหารจัดการก็เป็นแนวคิดหนึ่ง ก็กำลังคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายวีรพงศ์กล่าว

สำหรับการศึกษา 4 ขั้นตอนที่สำคัญ คือ 1. การตรวจสอบสินค้าก่อนประมูล ขั้นตอนที่ผู้รับช่วงค้าส่งและผู้มีสิทธิ์ซื้อจะตรวจสอบสินค้าก่อนการประมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะนำไปขายต่อในราคาเท่าไหร่ 2. การเริ่มประมูล ขั้นตอนที่สินค้าทั้งหมดจะถูกนำมาประมูล โดยผู้ที่ให้ราคาที่สูงที่สุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล โดยการประมูลนั้นจะผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และผู้มีสิทธิร่วมประมูลจะประกอบด้วยผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต และพ่อค้าคนกลางเท่านั้น

3. การตรวจสุขอนามัยของสินค้า เมื่อการประมูลเสร็จสิ้นลงจะมีการตรวจเช็กคุณภาพของสินค้า โดยจะมีหน่วยงานตรวจสอบสุขอนามัยในสถานที่ประมูล สถานที่จำหน่าย และตรวจสอบมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยของสินค้า ซึ่งหากตรวจพบว่าสินค้าไม่ได้มาตรฐานจะถูกระงับไม่ให้จำหน่ายทันที และ 4. การกระจายสินค้า โดยผู้รับช่วงค้าส่งจะนำสินค้าที่ประมูลได้ออกจำหน่ายให้ผู้ซื้อในเวลาที่กำหนดไว้

“การประมูลผู้ให้ราคาสูงสุดจะเป็นผู้ชนะการประมูล เพื่อสร้างราคาที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกร สามารถตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานของผลผลิตทางการเกษตรได้อย่างทั่วถึง มีข้อมูลที่สามารถตรวจเช็กได้ว่าเป็นสินค้าจากที่ไหน ฯลฯ ไทยเป็นประเทศถือครองส่วนแบ่งตลาดผลไม้เมืองร้อนของโลกมากที่สุด สามารถคุมกลไกการค้าผลไม้เมืองร้อนได้ และทำให้เกิดการสร้างแบรนด์ประเทศไทยได้” นายวีรพงศ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น