xs
xsm
sm
md
lg

ครม.สัญจรรับทราบแผนคมนาคม อัดงบลงทุน EEC ต่อเนื่องถึงปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.สัญจรรับทราบแผนลงทุนโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่ EEC ต่อเนื่องถึงปี 2566 ทั้งถนน มอเตอร์เวย์ รถไฟ ท่าเรือ และสนามบิน ศูนย์ซ่อม MRO ปั้นเป็นเมืองการบินในภูมิภาค “สมคิด” เร่งประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน 2.3 แสนล้าน ส่วนแหลมฉบังขั้นที่ 3 คาดเปิดให้บริการในปี 2568

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2561 วันที่ 6 ก.พ. ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติรับทราบภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาคตะวันออก (EEC) ของกระทรวงคมนาคม ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบแผน และคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561

โดยแบ่งเป็นการพัฒนาปรับปรุงโครงข่ายถนนของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ช่วงปี 2557-2561 วงเงินรวม 77,323.783. ล้านบาท เช่น มอเตอร์เวย์ สายพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งจะเปิดใช้ในปี 2563, การขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวง3126 สนามบินอู่ตะเภา-ท่าเรือจุกเสม็ด, ขยาย 6 ช่องจราจร ทางหลวง 304 มีนบุรี-ฉะเชิงเทราตอน 2, ถนนเลียบชายทะเลตะวันออกพร้อมทางจักรยาน เป็นเส้นทางคมนาคมและท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ในปี 2563-2566 มีแผนขยายมอเตอร์เวย์ สายแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี-นครราชสีมา เพื่อเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา-หนองคาย อีกด้วย

ด้านการพัฒนาระบบราง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีแผนดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่าโครงการ 236,700 ล้านบาท และมีการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์บริเวณมักกะสัน 145 ไร่ และที่ดินรอบสถานีศรีราชา 30 ไร่ โดยที่ประชุม กนศ.ได้รับทราบกรอบหลักการร่วมลงทุนกับเอกชนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็นรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ก่อนนำเสนอ กนศ.ต่อไป

ส่วนระยะต่อไปจะมีการเชื่อมโยงรถไฟต่อกับประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV และตอนล่างเข้ากับ 3 ท่าเรือ คือ แหลมฉบัง มาบตาพุด และสัตหีบ และแผนโครงการรองรับนิคมอุตสาหกรรมเชื่อมโยงภูมิภาค เช่น รถไฟทางคู่ศรีราชา-ระยอง และช่วงมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ ระยะทางรวม 275 กม. วงเงินประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอคมนาคมของบกลางปี 2561 เพื่อศึกษาความเหมาะสม

นอกจากนี้ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ยังอยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาทบทวนความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังขั้นที่ 3 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568 ส่วนบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ระยะที่ 1 ที่สนามบินอู่ตะเภา มูลค่าประมาณ 10,300 ล้านบาทเป็นโครงการนำร่องใน EEC ขยายขีดความสามารถขยายฐานลูกค้า พัฒนาอุตสาหกรรมการบินและเป็นเมืองการบิน และใช้การเชิญชวนเอกชนแบบไม่ประมูล


กำลังโหลดความคิดเห็น