xs
xsm
sm
md
lg

“จีไอที” ชี้ช่องอัญมณีเจาะตลาดญี่ปุ่น แนะจับกลุ่มไฮเอนด์-สูงอายุ-สัตว์เลี้ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“จีไอที” ชี้ช่องผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยเจาะตลาดญี่ปุ่น แนะผลิตสินค้าขายกลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มไฮเอนด์ กลุ่มผู้สูงอายุ และเครื่องประดับสัตว์เลี้ยง หลังแนวโน้มขยายตัวสูงมาก ส่วนสินค้าที่นิยมส่วนใหญ่จะเป็นพวกเพชร ทองคำขาว มุก พลอยสีอ่อน เครื่องประดับดีไซน์ทันสมัยและมีลูกเล่นด้านนวัตกรรม พร้อมย้ำต้องคุมคุณภาพมาตรฐาน

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที เปิดเผยว่า จีไอทีได้นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าเครื่องประดับ International Jewelry Tokyo 2018 ที่กรุงโตเกียว ระหว่างวันที่ 24-27 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา เพื่อเปิดตัวสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย และศึกษาลู่ทางในการผลักดันการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นตลาดที่มีโอกาสสูงจากการเป็นตลาดของกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว ตลาดแนวไฮเอนด์ ตลาดสำหรับผู้สูงอายุ และเครื่องประดับสัตว์เลี้ยง

“ตลาดญี่ปุ่นไม่ใช่ตลาดหลักของอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเหมือนกับตลาดฮ่องกง จีน สหรัฐฯ หรือยุโรป แต่เป็นตลาดที่มีโอกาสสูงมาก โดยเฉพาะตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีอัตราการเติบโต ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากทั่วโลก ตลาดแนวไฮเอนด์ที่จะเจาะกลุ่มพวกคนรวยที่นิยมเครื่องประดับสุดหรู มีราคาสูง ทั้งเพชร พลอย ตลาดผู้สูงอายุ ที่มีจำนวนกว่า 29 ล้านคน เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก และเครื่องประดับสัตว์เลี้ยง ที่คนญี่ปุ่นหันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น และต้องการหาเครื่องประดับทั้งแท้และเทียมมาประดับสัตว์เลี้ยงนอกเหนือจากเสื้อผ้า จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย” นางดวงกมลกล่าว

นางดวงกมลกล่าวว่า สำหรับแนวโน้มตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในญี่ปุ่น พบว่าญี่ปุ่นนิยมนำเข้าเพชรและเครื่องประดับทอง พวกทองคำขาว เนื่องจากรสนิยมชอบสีเงินมากกว่าสีทอง คนญี่ปุ่นจะชอบเครื่องประดับประเภทมุก เพชร พลอยสีอ่อนๆ สีหวานๆ โอปอล ถ้าเป็นพลอยเนื้อแข็งสีที่ขายดีจะเป็นสีเขียว สีน้ำเงิน และสีแดงทับทิม ส่วนโลหะมีค่าที่นิยม เช่น แพททินัม และเครื่องประดับเงิน รวมทั้งเครื่องประดับแฟชั่นรูปแบบใหม่ๆ ที่ทันสมัย ส่วนพลอยสีนิยมเป็นระยะๆ ตามแรงกระตุ้น แต่ช่วงนี้ตลาดซบเซาลงตามเศรษฐกิจโลก

นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญต่อเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน จึงเป็นสาเหตุทำให้เครื่องประดับแบรนด์เนมต่างๆ ได้รับความนิยมแม้จะราคาสูง ขณะที่การออกใบรับรองอัญมณีหรือเครื่องประดับก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริโภคต้องการ เพื่อความเชื่อมั่นในสินค้า

ขณะเดียวกัน การเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นจะต้องให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจากการเข้าร่วมงานพบว่าปีนี้การจัดงานให้ความสำคัญเรื่อง Accessories เช่น ตะขอที่ทำเป็นแม่เหล็กดูดติดกันสะดวกต่อการสวมใส่ หรือเทคนิคสปริงที่ยึดเพชรเข้ากับตัวเรือนทำให้เพชรหรือพลอยที่ใส่ลงไปขยับได้ เรียกว่า dancing stone หรืองานออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น การเอาปะการังมาเจียระไนเป็นลูกกลม และ inlay ด้วยเปลือกมุกเล็กมากๆ เห็นเป็นรูปดอกไม้มุกกลีบเล็กๆ บนตัวปะการัง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น