xs
xsm
sm
md
lg

สร.กฟผ.ยื่นนายกฯ พรุ่งนี้เบรกเปิดเสรี อดีตผู้ว่าฯ ตอกย้ำระวังเงินส่งรัฐวูบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กฟผ.เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกฯ พรุ่งนี้ (18 ม.ค.) หวังให้พิจารณารอบคอบหากจะมีนโยบายเปิดเสรี แยกสายส่งออก ชี้เสี่ยงต่อความมั่นคง ขณะที่ 2 อดีตผู้ว่าฯ ตอกย้ำจุดอ่อนเปิดเสรีมากไประวังความมั่นคง แถมเงินส่งรัฐวูบ เหตุเอกชนเสียแค่ภาษีจิ๊บๆ ตั้งข้อสังเกตเอกชนสนใจผลิตไฟแห่เข้าตลาดฯ

นายศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เปิดเผยว่า วันที่ 18 ม.ค.จะยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ตรวจสอบเรื่องการปฏิรูปกิจการพลังงานของประเทศที่อาจจะนำไปสู่การเปิดเสรีว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติประชาชนจริงหรือไม่ โดยที่ผ่านมา กฟผ.ถ่วงดุลเรื่องความมั่นคงอยู่แล้ว หากเปิดเสรีแล้วแยกสายส่ง ศูนย์ควบคุมออกจาก กฟผ.จะเกิดความเสี่ยงหรือไม่ โดยขอให้ดูตัวอย่างการเปิดเสรีทั้งระบบ เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ก็เกิดปัญหาไฟตก-ไฟดับมาแล้ว

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ อดีตผู้ว่าการ กฟผ.และกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงาน กล่าวในงานเสวนา ฝ่าวิกฤติปฏิรูปไฟฟ้า กฟผ.จะก้าวข้ามอย่างไร ซึ่งจัดโดย สร.กฟผ.ว่า ปัจจุบันกำลังผลิตตามสัญญาของ กฟผ.มีน้อยกว่าเอกชน แต่สามารถทำรายได้เข้ารัฐได้สูงกว่า โดยกำลังผลิตตามสัญญาของ กฟผ. ณ เดือน ธ.ค. 2560 อยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นเมกะวัตต์ ในขณะที่หากรวมของเอกชนจะมีประมาณ 25,873 เมกะวัตต์ (ไอพีพี 14,948 เมกวัตต์ เอสพีพี 7,326 เมกวัตต์ และวีเอสพีพี 3,599 เกมะวัตต์) โดยในปี 2559 นั้น กฟผ.นำเงินส่งรัฐ 20,600 ล้านบาท แต่เอกชนนำเงินส่งรัฐในรูปการเสียภาษีเพียง 4,000 ล้านบาทเท่านั้น

ขณะที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าของ กฟผ.สามารถแข่งขันได้กับเอกชน โดยต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำกว่า และต้องมีภาระในการสำรองไฟฟ้าและบริหารไฟฟ้าหากไฟฟ้าขาดแคลน ดังนั้น ภาครัฐจึงควรมองถึงการดำเนินการทั้งระบบ ทั้งการสร้างรายได้ การสร้างความมั่นคง และต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำแก่ประชาชน ซึ่งความจริงแล้วกำไรค่าไฟฟ้าถูกควบคุมเป็นธุรกิจที่มีกำไรน้อย กฟผ.จึงแข่งขันค่าไฟฟ้าได้ แต่ที่น่าสังเกตคือเอกชนมาสนใจผลิตเป็นจำนวนมาก ก็เนื่องจากว่ามีการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์และสร้างรายได้มหาศาล

นายไกรสีห์ กรรณสูตร อดีตผู้ว่าการ กฟผ. และอดีตกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในเงื่อนไขการกำกับดูแลเรื่องการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น ตามกฎหมาย กกพ.กำหนดว่า กฟผ.จะต้องเดินเครื่องอย่างเป็นธรรม โดยดูเรื่องต้นทุน เรื่องข้อจำกัดสายส่งและสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นสำคัญ หาก กฟผ.ไม่สั่งเดินเครื่องเอกชนด้วยเหตุผลเหล่านี้จะมีบทลงโทษทั้งบทปรับที่รุนแรง ซึ่งในกรณีหากไม่ให้ กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าใหม่เลย และยังมีข้อกำหนดให้การนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีไม่จำเป็นต้องใช้ก๊าซจากระบบรวม (POOL) ซึ่งเป็นก๊าซที่คำนวณจากแหล่งในประเทศ แหล่งพม่า และการนำเข้าแอลเอ็นจี ดังนั้น หากแอลเอ็นจีต้นทุนต่ำกว่า ในอนาคตโรงไฟฟ้า กฟผ.ก็จะไม่ถูกสั่งเดินเครื่อง ก็จะมีผลทำให้ กฟผ.กลายสภาพจากกำไรเป็นขาดทุนก็ได้

นายกรศิษฎ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า การปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง ทาง อดีต รมว.พลังงานเคยเสนอให้ ปตท.และ กฟผ.ควรจับมือร่วมกันไป ไม่ควรทะเลาะกัน ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ กฟผ.เดินไปข้างหน้าได้ และการเปิดเสรีทั้งระบบควรดูว่าเหมาะสมกับเมืองไทยหรือไม่ เมืองไทยเป็นระบบไฟฟ้าขนาดเล็ก หากเปิดทั้งหมดประชาชนจะได้ประโยชน์หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น