xs
xsm
sm
md
lg

กกร.จี้ขึ้นค่าแรงต้องไม่สูงเกิน หวั่น SMEs-เกษตรกร 15 ล้านรายกระอัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกร.ยันไม่ได้คัดค้านขึ้นค่าแรงปี 61 แต่ไม่ควรเท่ากันทั่วประเทศและไม่สูงเกินไป โดยขอให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการอนุค่าจ้างจังหวัด ไม่ควรจะมีการแทรกแซง เตือนหากสูงเกินไปอาจกระทบเอสเอ็มอีและภาคเกษตกร 15 ล้านราย

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทยเปิดเผยว่า กกร.ได้แถลงเพื่อแสดงจุดยืนเกี่ยวกับกระแสข่าวที่จะมีการปรับขึ้นค่าแรง 2-15 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้สมาชิก กกร.มีความกังวล โดย กกร.เห็นว่าการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำปี 2561 ควรจะปรับขึ้นได้แต่ไม่ควรเท่ากันทั่วประเทศ เพราะแต่ละจังหวัดมีสภาพเศรษฐกิจ สังคม ขนาดอุตสาหกรรม และความจำเป็นต่างกัน จึงควรให้เป็นการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วน เพราะหากไม่สะท้อนข้อเท็จจริงอาจกระทบภาวะเศรษฐกิจและความน่าสนใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

“เอกชนไม่ได้คัดค้านการขึ้นค่าจ้างแต่ขอให้มีการพิจารณาที่เหมาะสมและขอให้เป็นเรื่องที่คณะกรรมการไตรภาคีจะพิจารณา เพราะหากปรับขึ้นค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศหรือขึ้นค่าแรงที่สูงเกินจริงจะมีผลกระทบต่อประชาชนนอกภาคแรงงานที่อาจจะทำให้ค่าครองชีพปรับสูงขึ้นตามไปด้วย และการปรับทั้งประเทศหรือสูงเกินไปอาจกระทบต่อระดับอัตราเงินเดือน ปวช. ปวส. ปริญญาตรี และข้าราชการ ที่จะกระทบเป็นขั้นบันได” นายกลินทร์กล่าว

นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรงที่เท่ากันทั่วประเทศหรือสูงเกินจริงจะกระทบรอบด้าน โดยปี 2560 ผู้มีงานทำ 37.72 ล้านคน ภาคเกษตร 12.05 ล้านคน ภาคการผลิต 14.79 ล้านคน ภาคการบริการและการค้า 10.88 ล้านคน นอกจากนี้ ยังเป็นเอสเอ็มอี 3 ล้านราย คาดว่าเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้น จึงต้องคำนึงไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเอสเอ็มอีและภาคเกษตรน้อยที่สุด

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพแตกต่างกัน ส่วนจะปรับขึ้นเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี ถ้าหากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 15 บาท จะส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอีที่มีข้อจำกัดในความสามารถที่จะจ่ายค่าแรงได้ แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นแรงงานต่างด้าว

“เราไม่ต้องการเห็นการเข้าไปแทรกแซงการปรับขึ้นค่าแรงใหม่ โดยเคารพการตัดสินใจของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และภาครัฐควรผลักดันให้ไทยก้าวสู่แรงงานไทยที่มีทักษะสูง (Skill Labor) หรือ Brainpower ผ่านนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับ Thailand 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงแรงงาน” นายเจนกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น