xs
xsm
sm
md
lg

สนข.สรุปการศึกษาแผนลงทุน 2.5 พัน ล.ปั้น “พิษณุโลก” โลจิสติกส์ฮับภาคเหนือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนข. เปิดเวทีนำเสนอศึกษา ปั้น “พิษณุโลก” เป็นโลจิสติกส์ฮับภาคเหนือ เป็นเขตอุตสาหกรรมผสมผสานกับศูนย์การขนส่งและโลจิสติกส์ ชี้จุดเด่นเป็นเมืองที่มีระบบการขนส่งหลากหลายรูปแบบ และยังสามารถเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างภูมิภาคได้ สามารถยกระดับคมนาคมขนส่งสู่อาเซียน โดยตำบลบึงพระ เป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุด แนวคิดจัดสรรพื้นที่ เป็น 4 ส่วน รองรับกิจกรรมทางโลจิสติกส์หลากหลายรูปแบบ ครบวงจร คาดงบลงทุน 2.5 พัน ล. ดันเปิดบริการระยะที่ 1 ปี 65

วันนี้ (22 ธ.ค. 60) เวลา 08.30 น. ที่ จังหวัดพิษณุโลก นายเกรียงวิชญ์ เตชวิทยไวทิน ปลัดจังหวัดพิษณุโลก และ นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อนำเสนอ ผลการศึกษา และรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ ศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้าจังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub) เพื่อนำเสนอผลสรุปของโครงการ รูปแบบของ Logistics Hub ที่เหมาะสม ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ และแผนดำเนินการในระยะต่อไป ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน และสื่อมวลชนร่วมงาน

นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า ผลการศึกษาความเหมาะสม พบว่าจังหวัดพิษณุโลกมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็น “เขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ หรือ Freight Village” ผสมผสานกับ “ศูนย์การขนส่งและโลจิสติกส์ หรือ Transport Logistics Hub” เนื่องจากเป็นเมืองที่มีระบบการขนส่งหลากหลายรูปแบบ และยังสามารถเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างภูมิภาคได้ โดยศึกษาและพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบด้าน และพบว่า ตำบลบึงพระ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งที่มีในพื้นที่ไปยังศูนย์โลจิสติกส์ได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังใกล้แหล่งผลิตสินค้า โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่การเกษตร ส่งผลให้มีปริมาณผู้เข้ามาใช้บริการศูนย์โลจิสติกส์เป็นจำนวนมาก

สำหรับพื้นที่ภายในของเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ได้มีการจัดสรรพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน เพื่อรองรับการดำเนินกิจกรรมทางโลจิสติกส์หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ พื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้าทางถนน พื้นที่สำหรับการขนส่งสินค้าทางราง พื้นที่สำหรับให้หน่วยงานเอกชนเช่าเพื่อดำเนินกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ และพื้นที่เขตปลอดภาษี (Free Zone)

นอกจากนี้ ภายในเขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จะจัดให้มีการให้บริการด้านต่างๆ อย่างครบวงจร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการบริการสำหรับผู้ประกอบการขนส่งและโลจิสติกส์ เช่น บริการชานชาลาขนถ่ายสินค้า คลังสินค้า และลานวางกองสินค้า, บริการเปลี่ยนถ่ายการขนส่งทางรางกับการขนส่งทางถนน การบริการสำหรับเจ้าของสินค้า เช่น บริการติดฉลากบรรจุภัณฑ์, บริการติดตามตรวจสอบสถานะสินค้า และบริการเขตปลอดภาษี การบริการสำหรับผู้เช่า/ซื้อพื้นที่ในศูนย์โลจิสติกส์ เช่น บริการสร้าง ซ่อม ต่อเติมคลังสินค้า ห้องเย็น และศูนย์กระจายสินค้า และการบริการสำหรับบุคคลทั่วไปที่เข้ามาใช้พื้นที่ในศูนย์โลจิสติกส์ เช่น อาคารที่พัก, ห้องประชุมสัมมนา, ศูนย์อาหาร และสถานีบริการน้ำมัน

ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมและจัดทำแผนการพัฒนา โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2565 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้าทางถนน และการก่อสร้างพื้นที่สำหรับให้หน่วยงานเอกชนเช่า ระยะที่ 2 ปี 2570 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่สำหรับการขนส่งสินค้าทางราง ระยะที่ 3 ปี 2580 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่เขตปลอดภาษี (Free Zone) คาดว่าใช้งบประมาณรวม 2,500 ล้านบาท มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) คิดเป็นร้อยละ 15 โดยมีแนวคิดที่จะให้เอกชนร่วมพัฒนาและบริหารจัดการ เพื่อให้การพัฒนาเกิดความคล่องตัว และสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยหน่วยงานภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนในการร่วมมือกันขับเคลื่อน

สำหรับ จ.พิษณุโลก ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทยที่มีความพร้อมในด้านภูมิประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เป้าหมายต่อไปของการพัฒนา คือ การเป็น Logistics Hub ของภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ดังปรากฏในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) คือ การขับเคลื่อนการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานให้สัมฤทธิ์ผลและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 7 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์รวมถึงเป้าหมายด้านยุทธศาสตร์ ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาด้วย การสัมมนาในวันนี้ นอกจากจะนำเสนอผลการศึกษาซึ่งเป็นร่างรายงานฉบับสมบูรณ์แล้วยังเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อผลการศึกษาดังกล่าว เป็นการแสดงออกถึงการร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาประเทศระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน

ทั้งนี้ จังหวัดพิษณุโลก จะกลายเป็นพื้นที่แรกของกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง รวมถึงเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่มีการพัฒนาเป็นศูนย์โลจิสติกส์ครบวงจรที่ได้มาตรฐานสากล ช่วยให้ของเศรษฐกิจในภาพรวมเกิดการขยายตัวมากขึ้นถึง 3,300 ล้านบาท และเกิดรายได้จากการจ้างงานถึง 1,400 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านการค้า การลงทุน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ รวมไปถึงการสนับสนุนภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ พร้อมขับเคลื่อนความเจริญเข้าสู่ท้องถิ่น และประเทศชาติ อันจะส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ด้าน นายเกรียงวิชญ์ เตชวิทยไวทิน ปลัดจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า เนื่องด้วยจังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่างเชื่อมโยงภาคเหนือ ภาคกลาง และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งยังอยู่ในแนวเส้นทาง North-South Economic Corridor (NSEC) East-West Economic Corridor (EWEC) สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม และประเทศจีนตอนใต้ ทำให้จังหวัดพิษณุโลกมีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าการบริการในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน ทางจังหวัดจึงได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำเนินงานศึกษาความเหมาะสมการบริหารจัดการและกระจายสินค้า จังหวัดพิษณุโลก (Logistics Hub) เพื่อศึกษาศักยภาพการพัฒนาและปัจจัยที่จะเอื้อต่อระบบเศรษฐกิจจังหวัดพิษณุโลก เพื่อให้เป็น Logistics Hub อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น