xs
xsm
sm
md
lg

ผู้โดยสารล้นสถานี! “ไพรินทร์” สั่งแอร์พอร์ตลิงก์วิ่งเที่ยวแรก ตี 5 ครึ่ง-เร่งซื้อรถ 7 ขบวน-เบรกประตูกั้น ติดราวกันตกแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ไพรินทร์” สั่งแอร์พอร์ตลิงก์ เร่งซื้อรถ 7 ขบวน แก้ปัญหาผู้โดยสารทะลักสถานี ไม่ต้องรอรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน พร้อมสั่งปรับตารางเดินรถเที่ยวแรกออกเร็วขึ้น เป็น 05.30 น. เพื่อระบายผู้โดยสารช่วงเช้า และ เร่งติดเก้าอี้ตู้ขนสัมภาระรับได้อีก 1.1 หมื่นคน/วัน พร้อมชะลอประตูกั้นชานชาลา ทำราวสแตนเลสกันตกแทน หวั่นมีปัญหาเทคนิคกับรถไฟ 3 สนามบิน



นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและให้นโยบาย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ว่า ได้เร่งรัดให้ดำเนินการจัดซื้อรถไฟฟ้า 7 ขบวน วงเงินกว่า 4.4 พันล้านบาท ซึ่งได้รับรายงานว่า การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ผ่านมา มีปัญหาการฟ้องร้อง ซึ่งจะร่วมกันพิจารณาเพื่อแก้ปัญหาเพื่อให้สามารถซื้อรถ 7 ขบวนได้เร็วที่สุด โดยต้องการให้ได้รถมาวิ่งบริการเพิ่มภายใน 1 - 2 ปีนี้ อีกทั้งเห็นว่า การซื้อรถใหม่ 7 ขบวน ไม่ต้องรอความชัดเจน โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน เพราะคาดว่ารถไฟเชื่อม 3 สนามบินจะได้ข้อสรุปประมาณ Q1/61 จากนั้นต้องใช้เวลาในการดำเนินการก่อสร้าง จะเปิดให้บริการได้ต้องใช้เวลาอีกหลายปี ซึ่งคงไม่ทันเวลา

นอกจากนี้ ได้ให้นโยบายในการปรับตารางเดินรถเที่ยวแรกในช่วงเช้า จากปัจจุบัน เที่ยวแรกเริ่มเวลา 06.00 น. เป็นเวลา 05.30 น. เร็วขึ้น 30 นาที เพื่อลดความแออัดของผู้โดยสารในช่วงเวลาเช้า ซึ่งปัจจุบันช่วงเร่งด่วนเช้ามีรถวิ่งชั่วโมงละ 6 ขบวน หรือ ระยะห่าง 10 นาทีต่อขบวน แต่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากทำให้เกิดความแออัดที่สถานี ประกอบกับมีการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) รถ 9 ขบวน

ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงติดเก้าอี้ ตู้ขนกระเป๋าสัมภาระจำนวน 4 ตู้ กับการเร่งรัดจัดซื้อรถ 7 ขบวน จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่ม ซึ่งจะสอดคล้องกับการขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่จะปรับเพิ่มจาก 45 ล้านคนเป็น 60 ล้านคนต่อปี และจะมีรถไฟเชื่อม 3 สนามบินเพิ่มอีก 1 โครงการ อย่างไรก็ตาม ได้แจ้งคณะกรรมการ (บอร์ด) และฝ่ายบริหาร หากติดขัดเรื่องใดให้เร่งนำเสนอเพื่อช่วยกันแก้ไข

***ชะลอประตูกั้นชานชาลา ทำราวสแตเลสกันผู้โดยสารตกรางแทน เหตุรอรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ส่วนการติดตั้งประตูกั้นชานชาลา 7 สถานี ซึ่งได้มีการยกเลิกประมูลไปนั้น ขณะนี้ให้ชะลอไปก่อนเพื่อรอข้อสรุปโครงการรถไฟเชื่อมต่อ 3 สนามบินชัดเจน เพื่อไม่ให้มีปัญหาด้านเทคนิค กรณีรถไฟความเร็วสูงใช้ลำตัวกว้าง (wide Body) จะได้ไม่ต้องแก้ไขภายหลัง ดังนั้น ในระหว่างนี้ ได้มีข้อเสนอให้ทำ ราวสเตนเลสกันตก ชั่วคราวไปก่อน และให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัย คอยดูแลบนชั้นชานชาลาเข้มงวด

“ให้ทำเป็นราวสแตนเลสกันตกแก้ไขชั่วคราไวไปก่อน เป็นรูปแบบ เดียวกับ ชานชาลาของรถไฟชินคันเซ็น ที่ญี่ปุ่นไม่ได้มีประตูกั้นทุกสถานี ซึ่งแบบนี้จะทำได้เร็วกว่า ถูกกว่า ซึ่งแม้แต่ ประเทศสิงคโปร์ก็มีคนตกลงไปในราง ก็ต้องช่วยๆ กันดูแล ให้บอร์ดและผู้บริหารดูว่าอะไรต้องเร่งดำเนินการให้นำเสนอ โดยเฉพาะซื้อรถใหม่ 7 ขบวน ต้องเร่ง รอไม่ได้ ระบบรถไฟฟ้า แอร์พอร์ตลิงก์เป็นบริการสำคัญเป็นทางเลือกในการเดินทางระหว่าง กรุงเทพฯชั้นในกับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบัน สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้ใช้บริการวันละกว่าแสนคน ดังนั้นต้องมีบริการที่รองรับได้ และมีความปลอดภัย” นายไพรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ จะต้องยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและมาตรฐานการให้บริการเพิ่มขึ้น โดยยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ซึ่งตัวเลขสถิติยังอยู่ในระดับยอมรับได้ เทียบเคียงกับ บีทีเอส และMRT แต่ แอร์พอร์ตลิงก์ มีข้อจำกัดในการบริหาร เพราะรับจ้างเดินรถจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดังนั้นต้องทำงานให้ประสานกันให้ดีมากขึ้น

***ปี 61 ลงทุน 100 ล.ใส่เก้าอี้ตู้สัมภาระ-ติดราวสเตนเลสอีก 30 ล.

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า การปรับตารางเดินรถเที่ยวแรก เป็น 05.30 น. นั้น มีกระบวนการจะต้องนำเสนอขออนุมัติจาก ร.ฟ.ท. ก่อน คาดว่า จะเริ่มได้ในเดือน ก.พ. 2561 โดยเวลา 30 นาที จะสามารถเดินรถได้ 3 เที่ยว รองรับได้เที่ยวละ 700 คน หรือประมาณ 2,100 คน นอกจากนี้ ยังมีแผนในการใส่เก้าอี้ ในตู้ขนกระเป๋าสัมภาระ จำนวน 4 ตู้ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกระบวนการของบประมาณ ปี 2561 จะเพิ่มความจุในการรองรับผู้โดยสารได้อีก 11,000 คน จากปัจจุบัน 72,000 คนต่อวัน เป็น 83,000 คนต่อวัน โดยคาดขบวนแรกจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2561

สำหรับการติดตั้ง ราวสเตนเลสกันตกชานชาลา ทั้ง 7 สถานีนั้น จะใช้งบไม่เกิน 30 ล้านบาท ดำเนินการภายใน 6 เดือน โดยประมูลต้นปี 2561 ได้ตัวผู้รับจ้างกลางปี 2561 ดำเนินการติดตั้ง 3 - 4 เดือนแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย.- ต.ค. 2561 ซึ่งจะใช้เวลาเร็วกว่าติดตั้งประตูกั้นชานชาลา ที่ใช้เวลา 18 เดือน

โดยปัจจุบัน แอร์พอร์ตลิงก์มีผู้โดยสารในวันธรรมดาเฉลี่ย 7 หมื่นคน ส่วนวันศุกร์เพิ่มขึ้น เป็น 7 - 8 หมื่นคน ขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์ จะมีประมาณ 5 หมื่นคน โดยรถ 9 ขบวน มีความจุรองรับที่ 7.2 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งขณะนี้ วิ่งให้บริการได้ 7 ขบวน สำรอง 1 ขบวน และอยู่ระหว่าง ซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) 1 ขบวน ซึ่งขณะนี้การ Overhaul เสร็จแล้ว 5 ขบวน ยังเหลือ 4 ขบวน

สำหรับการประมูลติดตั้งระบบประตูกั้นชานชาลาแบบสูงครึ่งบาน (Half Height Platform Screen Doors) จำนวน 7 สถานี รวม 14 ชานชาลา วงเงิน 200 ล้านบาท ซึ่งมีผู้ยื่นประมูล 4 ราย แต่ปรากฏว่า มีผู้ผ่านคุณสมบัติ และมีสิทธิ์เสนอราคาเพียงรายเดียวคือ กิจการร่วมค้า เซี่ยงไฮ้ ยูซีอาร์ซี ไดนามิค ซึ่งนายวิสุทธิ์ จันมณี กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แอร์พอร์ตลิงก์ ได้เสนอบอร์ด ขอยกเลิกประมูล
กำลังโหลดความคิดเห็น