xs
xsm
sm
md
lg

คาดปีนี้มีบริษัทตั้งใหม่ 7.2 หมื่นราย เผยปี 59 ธุรกิจ 2.98 แสนราย มีกำไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธุรกิจตั้งใหม่เดือน พ.ย. 6,597 ราย เพิ่มขึ้น 14% ส่วนยอดรวม 11 เดือน ทำได้แล้ว 68,462 ราย เพิ่ม 14% คาด ทั้งปีทำได้ถึง 72,000 ราย ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังเอกชนมั่นใจเศรษฐกิจ รัฐมีมาตรการอุ้ม SMEs ส่วนปี 61 คาดตั้งเพิ่มไม่ต่ำกว่า 75,000 ราย เผย การวิเคราะห์งบการเงินปี 59 พบธุรกิจ 2.98 แสนราย ยังคงทำกำไรได้ พร้อมจับมือแบงก์กรุงศรีฯ - เกียรตินาคิน ให้บริการขอหนังสือรับรองนิติบุคคล

นางกุลณี อิศดิศัย อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจเดือน พ.ย. 2560 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 6,597 ราย เพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย. 2559 มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งรวม 68,462 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 328% ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งช่วง 11 เดือนของปี 2560 (ม.ค.- พ.ย.) มีจำนวน 68,212 ราย เพิ่มขึ้น 14% โดยมีทุนจดทะเบียนรวม 372,706 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74%

ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการ มีจำนวน 2,306 ราย ลดลง 4% ทุนจดทะเบียนเลิกกิจการรวม 7,518 ล้านบาท ลดลง 9% และยอดรวม 11 เดือน มีจำนวน 15,682 ราย ลดลง 1% โดยมีทุนจดทะเบียนลดลง 73,425 ล้านบาท ลดลง 41%

สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจทั้งปี 2560 คาดว่า จะทำได้ถึง 72,000 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่า 8% โดยจะถือเป็นตัวเลขที่ทำสถิติสูงสุดตั้งแต่มีการรับจดทะเบียนมา เนื่องจากเอกชนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และการส่งเสริมให้มีการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ส่วนปี 2561 คาดว่า จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 75,000 ราย เพิ่มขึ้นประมาณ 5%

นางกุลณี กล่าวว่า กรมฯ ได้ทำการวิเคราะห์ผลประกอบการของธุรกิจที่ส่งงบการเงินปี 2559 จำนวน 492,131 ราย พบว่า มีธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้มีจำนวน 298,028 ราย คิดเป็น 61% ของจำนวนธุรกิจที่จัดส่งงบการเงินทั้งหมด และในจำนวนนี้ธุรกิจรายใหญ่ยังคงสามารถทำกำไรได้ดีกว่ารายกลางและรายเล็ก เพราะมีความพร้อมมากกว่า แต่เชื่อว่า แนวโน้มธุรกิจรายกลางและเล็ก จะสามารถแข่งขันและทำกำไรได้ดีขึ้น หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนออกมาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กรมฯ ได้ตรวจสอบถึงธุรกิจที่ทำกำไร พบว่า ธุรกิจที่มีกำไรสุทธิมากกว่า 20% ขึ้นไป คิดเป็น 21% ของประเภทธุรกิจทั้งหมด ได้แก่ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสารในเขตเมืองยกเว้นรถโดยสารประจำทาง ธุรกิจจัดหาน้ำและจ่ายน้ำผ่านระบบประปา, ธุรกิจที่มีกำไร 10 - 20% คิดเป็น 19% ได้แก่ ธุรกิจการผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง ธุรกิจไฟแนนซ์รถยนต์ และธุรกิจผลิตน้ำมันพืช, ธุรกิจที่มีกำไร 5 - 10% คิดเป็น 18% ได้แก่ ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ออนไลน์ ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีโครงสร้างเป็นโลหะสำหรับใช้ในงานก่อสร้าง และธุรกิจทำความสะอาดสำหรับอาหารและอุตสาหกรรม, ธุรกิจที่มีกำไร 0 - 5% คิดเป็น 24% ได้แก่ ธุรกิจจัดหาทรัพยากรมนุษย์ ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องหอม และธุรกิจก่อสร้างถนนสะพานและอุโมงค์

นางกุลณี กล่าวว่า กรมฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เพื่อให้บริการออกหนังสือรับรองและรับรองสำเนาเอกสารนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) ผ่านธนาคาร ทำให้ล่าสุดมีธนาคารที่เปิดให้บริการแล้วทั้งสิ้น 9 ธนาคาร คือ กรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ออมสิน ไทยพาณิชย์ ธนชาต มิซูโฮ และอีก 2 ธนาคารที่เพิ่งลงนามไป โดยประชาชนและภาคธุรกิจสามารถไปใช้บริการได้ที่สาขาของธนาคารทั้ง 9 แห่ง รวมทั้งสิ้น 4,177 สาขาทั่วประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น