xs
xsm
sm
md
lg

“ชุติมา” สั่งเตรียมพร้อมเจรจา FTA ไทย-อียู หลังอียูแจ้งฟื้นความสัมพันธ์กับไทยทุกระดับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ชุติมา” สั่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเตรียมพร้อมเจรจา FTA ไทย-อียู หลังอียูประกาศฟื้นความสัมพันธ์กับไทยในทุกระดับ มั่นใจพร้อมเจรจาได้ทุกเมื่อ

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ ว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2560 คณะมนตรีการต่างประเทศของอียู ลงมติให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการเมืองกับไทยในทุกระดับ รวมถึงการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) โดยให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเริ่มเจรจากันต่อภายหลังการเลือกตั้งของไทย ซึ่งการออกแถลงการณ์มติของอียูครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการสานต่อความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับอียู หลังจากฝ่ายอียูระงับการเยือนไทยของผู้แทนระดับสูงตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2557

ทั้งนี้ การเจรจา FTA ไทย-อียูได้เจรจาครั้งแรกเมื่อปี 2556 และได้ชะลอการเจรจาหลังเจรจากันมาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งมติของคณะมนตรีการต่างประเทศของสหภาพยุโรปที่มอบหมายให้คณะกรรมาธิการยุโรปพิจารณารื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทย-อียู เป็นการส่งสัญญาณที่ดี และอาจเป็นจุดเริ่มต้นให้ทั้งสองฝ่ายเตรียมการหารือแนวทางเจรจา FTA ระหว่างกันต่อไป

“ได้มอบให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศติดตามพัฒนาการของอียูในการจัดทำ FTA หรือข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมของไทย และเมื่ออียูพร้อมจะรื้อฟื้นการเจรจา FTA ไทยจะได้เจรจาได้ทันที โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปฏิรูปกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่สำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่เป็นธรรมแล้ว” น.ส.ชุติมากล่าว

อย่างไรก็ตาม การเจรจา FTA กับอียู ถือเป็นความท้าทาย เพราะการเจรจาไม่ได้มุ่งหวังเพียงแต่การลดภาษีนำเข้าสินค้า แต่จะมีประเด็นอื่นที่เชื่อมโยงกับการค้า ซึ่งไทยต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งนี้ หากการเจรจา FTA มีความคืบหน้าสามารถหาข้อสรุปได้จะช่วยดึงดูดการลงทุน และทำให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น