xs
xsm
sm
md
lg

“น้ำเมา” ชงรัฐแก้ข้อห้ามให้ชัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA
ผู้จัดการรายวัน 360 - ประเด็นการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงและสร้างความไม่ชัดเจนมาโดยตลอด แม้ว่าจะมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ออกมาบังคับใช้แล้วก็ตาม

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA กล่าวว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยังมีบางประเด็นที่ภาครัฐและเอกชนควรหารือร่วมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายที่ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมเรื่อยมาว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ในฐานะตัวแทนผู้ผลิต มุ่งหวังที่จะร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาชนในการบังคับใช้ตัวบทกฎหมายอย่างเป็นธรรมและตอบโจทย์ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการดื่มอย่างเป็นอันตราย หรือ Harmful Use of Alcohol ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน อีกทั้งส่งเสริมลดอัตราการดื่มที่เป็นอันตรายทั่วโลก 10% ภายในปี พ.ศ. 2568 ตามกรอบขององค์การอนามัยโลก (WHO)

“พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยังมีความคลุมเครือในบางประเด็น ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดเรื่องฉลากและคำเตือน วันและเวลาที่ห้ามขาย วิธีการขายลักษณะการขาย การส่งเสริมการขายการโฆษณาแลประชาสัมพันธ์ เป็นต้น รวมทั้งเป็นการพึ่งพิงการใช้ดุลพินิจของเจ้าพนักงานมากเกินไป จึงขาดแนวทางในการปฏิบัติที่แน่นอน ทั้งยังเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ที่อาจสร้างแรงจูงใจทางอ้อมให้เกิดการตีความอย่างไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากเงินสินบนรางวัล ส่วนภาคประชาชนเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่ดี แต่ขาดความชัดเจนในการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สร้างความสับสนให้ประชาชนและผู้ประกอบการ และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาคธุรกิจและท่องเที่ยว”

สมาคมฯ มองว่าภาครัฐควรจะควบคุมไม่ใช่มากำจัดแอลกอฮอล์ เพราะแม้ว่าจะมีการควบคุมแล้วแอลกอฮอล์ก็ยังเติบโตไม่ได้ยังมีอยู่ แต่เติบโตในลักษณะคงที่ สะท้อนว่าคนไทยมีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์อยู่แล้ว ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ มีข้อเสนอแนะหลายอย่าง เช่น แนวทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ชัดเจนถูกต้อง การกำหนดโทษกับผู้ดื่มที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ให้ชัดเจน หรือผู้ดื่มที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่ใช่เอาผิดแต่ผู้ขายเท่านั้น การบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องของแอลกอฮอล์ลงในหลักสูตรการเรียนเหมือนเรื่องเพศศึกษา เป็นต้น”
ธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA
ทั้งนี้ ตัวเลขจากกรมสรรพสามิตระบุว่า ปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2557 ปริมาณรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยมี 2,848.4 ล้านลิตร, ปี2558 เพิ่มเป็น 2,864 ล้านลิตร เติบโต 0.65% และปี 2559 มีปริมาณ 3,088 ล้านลิตร เพิ่ม 7.8% นั่นหมายความว่า แม้จะมีการควบคุมแต่คนก็ยังดื่มเพิ่มขึ้น อีกทั้งแนวโน้มคนไทยที่มีอายุมากกว่า 15 ปีก็ยังดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ลดลง

จากผลสำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังพบว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วราชอาณาจักรมีสาเหตุหลักจากการขาดวินัยจราจร ในขณะที่การเมาสุราเป็นสาเหตุลำดับที่ 7 สะท้อนให้เห็นแอลกอฮอล์ไม่ใช่ปัญหาหลักทางสังคม โดยเฉพาะเมาแล้วขับ และการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนในภาพรวมได้
ธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA
นอกจากนั้น ผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปีทั่วโลก ระบุว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 72 ไม่ใช่อันดับต้นๆ ซึ่ง 5 อันดับสูงสุดคือ เบลารุส ลิทัวเนีย เชชเนีย โครเอเชีย และออสเตรีย

“เราต้องการให้เกิดความชัดเจนในด้านของตัวบทกฎหมาย การปฏิบัติ และการตีความ ถ้าเรามีการบังคับใช้จริงจัง เท่าเทียม และชัดเจน ผมว่าเรื่องการกำหนดโซนนิ่ง หรือเวลาขายก็ไม่จำเป็นต้องทำแล้ว ทางสมาคมฯ จึงขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาประเด็นดังกล่าว เพื่อปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้มีความชัดเจน ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ สอดคล้องกับหลักสากล บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม” นายธนากรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น