xs
xsm
sm
md
lg

ไพรซ์ซ่าผ่าเทรนด์อีเพย์เมนต์ปี 61 จิ๊กซอว์สำคัญอีคอมเมิร์ซ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด (
ธุรกิจอีเพย์เมนต์ถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยิ่งบริการอีเพย์เมนต์มีความสะดวก ความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือมากเพียงใด ยิ่งส่งผลต่อความไว้วางใจของผู้บริโภคในการซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมากเท่านั้น

ล่าสุด บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน "Priceza" เครื่องมือค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) อันดับหนึ่งของประเทศ จึงได้จัดงาน "Priceza E-Commerce Awards 2017" ภายใต้แนวคิด "The Next Episode" พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ "E-Payment - Present & Future" เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการติดอาวุธผู้ประกอบการให้รับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และปรับตัวรับมือได้ทันท่วงที

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน "Priceza" กล่าวว่า อัตราการซื้อ (Sale Conversion Rate) ของ Priceza ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค. 60) อยู่ที่ 2.81% เติบโตขึ้นจากปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 1.72% หรือคิดเป็นอัตราเติบโตประมาณ 63% สะท้อนว่าผู้ที่เข้าเว็บไซต์มาค้นหาสินค้า มีโอกาสเปลี่ยนมาเป็น "ผู้ซื้อ" เพิ่มขึ้น

“จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ค้นหาข้อมูลทั่วไปกลายสภาพมาเป็นผู้ซื้อ คือเรื่องอีเพย์เมนต์ วันนี้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ภาคการเงินการธนาคาร ต่างเข้าสู่สนามอีเพย์เมนต์ ช่วยกันพัฒนาบริการที่สะดวก ปลอดภัย ใช้งานง่าย มาผูกกับบริการอีคอมเมิร์ซ มีความพยายามแก้ไขกฎหมาย วางโครงสร้างต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างสะดวกขึ้น หากสนามอีเพย์เมนต์ยังเติบโตไปได้ด้วยดี ผู้บริโภคก็มีความไว้วางใจในการใช้จ่ายมากขึ้น อัตราการซื้อในปีหน้าก็มีโอกาสเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายธนาวัฒน์กล่าว
สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการ PayPal ประจำประเทศไทย
นายสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการ PayPal ประจำประเทศไทย กล่าวว่า จากการสำรวจของ PayPal เกี่ยวกับช่องทางการจ่ายเงินของผู้บริโภคในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก พบว่า ค่าเฉลี่ยของคนทั้งเอเชียยังคงใช้เงินสดในการชำระเงินอยู่ที่ประมาณ 57% โดยไทยใช้เงินสดในการชำระเงินอยู่ที่ประมาณ 70% ขณะที่จีนเป็นประเทศที่ใช้เงินสดในการชำระเงินน้อยที่สุด โดยมีผู้ใช้เงินสดเพียงราว 25% เท่านั้น

“เมื่อก่อนจีนเป็นประเทศที่ใช้เงินสดในการชำระเงินค่อนข้างมาก รวมถึงเวลาการซื้อของผ่านออนไลน์ก็นิยมชำระค่าสินค้าปลายทาง หรือ Cash On Delivery หรือ COD แต่มาวันนี้จีนเดินทางมาถึงจุดที่ใช้เงินสดเพียง 25% ไทยเองก็มีแนวโน้มที่จะชำระค่าสินค้าปลายทางน้อยลงไปในทิศทางเดียวกับจีน” นายสมหวังกล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้แนวโน้มการชำระเงินแบบ COD ลดลง เพราะปัจจุบันมีผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายกลางและรายย่อยเกิดขึ้นจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มโซเชียลคอมเมิร์ซ ที่ขายของผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม การชำระเงินแบบ COD ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูง ไม่คุ้มค่า การชำระเงินล่วงหน้าผ่านอีเพย์เมนต์จึงเป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการรายย่อยให้ความสำคัญ

ขณะเดียวกัน วิธีการชำระเงินแบบใหม่ๆ ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น e-Wallet, Contactless payment, ลงทะเบียนบัตรเครดิต, ลงทะเบียนบัญชีธนาคาร คล้ายๆ In-app purchase สตาร์ทอัพใหม่ๆ พยายามหาวิธีแบบนี้เข้ามา เพราะการรอพนักงานไปเก็บเงินค่อนข้างยุ่งยาก การมีพร้อมเพย์ก็ทำให้มีวิธีชำระเงินมากขึ้น เช่น ทำให้เกิด QR Code มาช่วยในการทำธุรกรรมทางการเงิน
สมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด
ด้าน นายสมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธาน บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด (KBTG) กล่าวว่า พร้อมเพย์จะเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกแวดวงอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้จ่ายข้ามธนาคารและข้ามระหว่าง e-Wallet ในต้นปี 2561 พร้อมเพย์กำลังจะมีฟีเจอร์ใหม่ เรียกว่า "Request to Pay" ให้ผู้ประกอบการแจ้งไปยังอีกฝ่ายที่มีโมบายล์แบงกิ้ง ให้ดำเนินการยืนยันจ่ายเงินได้ เพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ และนำไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)

“การชำระเงินด้วยเงินสดนำมาซึ่งต้นทุนมหาศาลให้ประเทศ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินสดมีจำนวนมาก ร้านค้าได้เงินสดมาต้องมานับเงิน ต้องนำเงินไปฝากธนาคาร ธนาคารก็ต้องนับอีกรอบ แล้วนำไปเข้าศูนย์เงินสดของธนาคาร จากนั้นธนาคารก็มานับใหม่ ไปเข้าธนาคารแห่งประเทศไทย ไปทำลาย แล้วผลิตแบงก์ใหม่ แล้วธนาคารก็ต้องนำเงินไปไว้ตามตู้เอทีเอ็ม ต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดในประเทศค่อนข้างมโหฬาร ถ้าประเทศไทยกลายเป็นสังคมไร้เงินสด ก็จะมีต้นทุนการทำธุรกิจต่ำลง” นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ AI และ Machine Learning กำลังเป็นสิ่งที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูว่าผู้ซื้อสนใจซื้อสินค้าประเภทไหน มีพฤติกรรมอย่างไร เพื่อเอาไว้ใช้หาคนที่มีพฤติกรรมคล้ายๆ กัน และมีโอกาสซื้อสินค้า

ด้านนายกิติพงศ์ มุตตามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด กล่าวว่า อีเพย์เมนต์เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ เพราะต่อให้สินค้าดี ลอจิสติกส์ดี แต่ถ้าบริการการจ่ายเงินไม่ดี ผู้บริโภคก็อาจเลือกไม่ใช้บริการเว็บไซต์หรืออีคอมเมิร์ซเจ้านั้นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซจึงต้องใส่ใจเลือกอีเพย์เมนต์ที่ได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภค

ทั้งนี้ เชื่อว่าในเร็วๆ นี้จะเห็นความร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ประกอบการ e-Wallet, ธนาคาร และฟินเทค ในการจัดทำแพกเกจที่ครบถ้วน ตอบโจทย์ความต้องการอีเพย์เมนต์ของผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ และผู้บริโภค

ด้าน นายศุภวิทย์ หงส์อมรสิน ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ประจำประเทศไทย บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ถ้าต้องการให้สังคมไร้เงินสดเกิดขึ้น โครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตมีส่วนสำคัญมาก อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคในปัจจุบันมีแนวโน้มมั่นใจในการใช้บริการอีเพย์เมนต์มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น