xs
xsm
sm
md
lg

ทย.ฟันธง! โอน “ตาก และอุดรฯ” ให้ ทอท.บริหาร จ่อเปิด PPP ประมูลอีก 4 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.)
ทย.กางผลศึกษาแผนบริหารและพัฒนาสนามบินภูมิภาค 28 แห่ง ชง “คมนาคม” เคาะ พ.ย.นี้ เสนอโอน “ตาก และอุดรธานี” ให้ ทอท. และต้องคุมค่าบริการไม่ให้สูงหวั่นกระทบผู้ใช้บริการ ขณะที่เปิด PPP เอกชนร่วมลงทุน 4 แห่ง “ลำปาง, เพชรบูรณ์, นครราชสีมา และชุมพร” พร้อมตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากร

นายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุม “แนวทางการบริหารและพัฒนาท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน” ว่า จากผลการศึกษาขีดความสามารถด้านการขนส่งทางอากาศและขีดความสามารถด้านการเงิน พบว่าสนามบินในสังกัดกรมท่าอากาศยานมีปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสูงถึงกว่า 25% (ปี 2552-2559) ซึ่งมีกำไรประมาณ 9 แห่ง ได้แก่ กระบี่, สุราษฎร์ธานี, อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, ตรัง เป็นต้น ซึ่งในระยะ10 ปี ทย.เตรียมลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาขีดความสามารถสนามบินทั้ง 28 แห่ง หรือเฉลี่ยปีละ 4-5 พันล้านบาท ซึ่งในอีก 20 ปีจะมีการเติบโตและมีสนามบิน 25 แห่งที่มีกำไร เหลือขาดทุนเพียง 3 แห่งเท่านั้น

ทั้งนี้ การศึกษาได้สรุปรูปแบบการบริหารสนามบินของ ทย.ทั้ง 28 แห่ง เสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาภายในเดือน พ.ย.นี้ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. ให้สิทธิ์การบริหารกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ในส่วนที่เติมเต็มโครงข่ายที่ ทอท.ขาดอยู่ 2 แห่ง คือ สนามบินตาก (ด้านตะวันตก) และสนามบินอุดรธานี (ด้านตะวันออกเฉียงเหนือ) โดยสนามบินตาก ปัจจุบันไม่มีเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ ส่วนอุดรธานี เป็นสนามบินที่มีการเติบโตดี มีผู้โดยสารกว่า 2 ล้านคนต่อปี ที่ตั้งอยู่ใกล้ สปป.ลาว เป็นสนามบินศุลกากร และในอีก 2-3 ปีมีแผนที่จะขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มประเมินค่าลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่ง ทอท.น่าจะมีศักยภาพในการลงทุนและพัฒนาด้านธุรกิจการบินได้

“ผลศึกษาเห็นว่า ทอท.ควรบริหารสนามบินที่ช่วยเติมเต็มโครงข่าย ส่วนจะเป็นการให้สิทธิ์อย่างไรจะต้องหารือร่วมกันเพื่อเลือกรูปแบบที่เหมาะสมและเป็นธรรมแม้ว่า ทอท.จะเป็นรัฐวิสาหกิจแต่ก็เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ทย.มีความเป็นห่วงเรื่องค่าบริการ ที่อาจจะคิดในอัตราที่สูงเกินไป ขณะที่ผ่านมา ทย.บริหารนั้นจัดเก็บในอัตราที่ต่ำ ทำให้สายการบินมีต้นทุนต่ำ สามารถนำไปกำหนดค่าโดยสารที่ไม่สูงมาก และทำให้มีการเดินทางของประชาชนด้วยเครื่องบินมากขึ้น ซึ่งเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมการบิน ขณะที่ร้านค้าหรือผู้ประกอบการในสนามบินจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME โอทอปเข้ามามีส่วนร่วมมากอีกด้วย ดังนั้น ประเด็นที่จะหารือกันนอกจากรูปแบบแล้วยังเป็นเรื่องการควบคุมอัตราค่าบริการต่างๆ ด้วย” นายดรุณกล่าว

รูปแบบที่ 2 การให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยได้กำหนดไว้จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานลำปาง, เพชรบูรณ์, นครราชสีมา และชุมพร  โดยรายละเอียดรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนนั้นขึ้นอยู่กับผลการศึกษาที่ต้องดำเนินงานตามมาตรา 25 ของการจัดทำ PPP ต่อไป

สำหรับสนามบินที่เหลือ ทย.จะยกระดับการบริหารภายใต้ตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์ใหม่ "ท่าอากาศยานแห่งการสร้างคุณค่าและโอกาส" โดยการมุ่งสร้างคุณค่าทั้งในด้านต้นทุน กับผู้ใช้บริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ และสร้างโอกาสให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงนักสร้างนวัตกรรมและผู้ประกอบการรายใหม่ในพื้นที่ (Local Start-UP) และในปี 61-62 ทย.ได้รับงบกว่า 200 ล้านบาทในการก่อสร้างศูนย์อบรมเจ้าหน้าที่เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและด้านรักษาความปลอดภัยที่บางปิ้ง สมุทรปราการ อีกด้วย

ทั้งนี้ ทย.ได้ว่าจ้างศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาดำเนินโครงการเพื่อจัดทำแนวทางการบริหารกลุ่มท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน ซึ่งพบว่าการพัฒนาและการบริหารท่าอากาศยานทั่วโลกรูปแบบของหน่วยงานที่ดูแลให้การดำเนินงานท่าอากาศยาน ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน และหน่วยงานที่ร่วมกันดำเนินงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละประเทศ รวมถึงช่วงระยะของวิวัฒนาการในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของประเทศนั้นๆ

แต่ที่สำคัญ ไม่ว่ารูปแบบการบริหารเป็นแบบใด ท่าอากาศยานต้องให้ความสำคัญในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับท้องถิ่นเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนา  

สำหรับในประเทศไทย ปัจจุบันมีหน่วยงานที่เป็นผู้ดำเนินงานท่าอากาศยานพาณิชย์ทั้งสิ้น 4 ราย ได้แก่ 1. กรมท่าอากาศยานซึ่งมีท่าอากาศยานในสังกัดทั้งสิ้น 28 แห่ง และกำลังก่อสร้างท่าฯ แห่งใหม่อีกหนึ่งแห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานเบตง 2. บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีท่าอากาศยานในสังกัด 6 แห่ง 3. บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มีท่าอากาศยานในสังกัด 3 แห่ง และ 4. กองทัพเรือ มีท่าอากาศยานในสังกัด 1 แห่ง โดยแต่ละหน่วยงานจะมีลักษณะเฉพาะของท่าอากาศยาน  ที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ทั้งในเชิงขนาดท่าอากาศยาน ปริมาณการขนส่งทางอากาศ ตำแหน่งที่ตั้งและการกระจายตัวของท่าอากาศยานในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงขีดความสามารถในการให้บริการและขีดความสามารถทางการเงิน

สำหรับท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยานทั้ง 28 แห่ง เป็นท่าอากาศยานที่มีภารกิจหลักไม่เฉพาะเพียงการให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์เท่านั้น แต่ยังเป็นระบบท่าอากาศยานให้บริการกับภารกิจของหน่วยงานราชการที่สำคัญต่อการพัฒนาท้องถิ่น เช่น ภารกิจด้านการทำฝนหลวงของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร การให้บริการกับเที่ยวบินฝึกบิน ซึ่งกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของเที่ยวบินฝึกบินทั้งประเทศนั้นทำการฝึกที่ท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน รวมถึงการให้บริการกับเที่ยวบินทางทหารซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ และเที่ยวบินอื่นๆ ที่มีความสำคัญในเชิงสังคม เช่น การขนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น