xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน เปิดประมูลในไตรมาส 1/61 “มิตซุย” ออกตัวสนใจร่วมลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มิตซุย” สนใจลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พบ “พิชิต” แนะไทยทำ TOR เปิดกว้างขั้นตอนในการเข้าร่วมประมูลไม่ยุ่งยาก ขณะที่เห็นว่าใช้ PPP Gross Cost น่าจะคุ้มค่ากว่า “พิชิต” ยันเปิดประมูลไตรมาส 1/61 แน่ ระบุเอกชนญี่ปุ่นในEEC จะได้ประโยชน์จากโครงการมาก พร้อมเร่งตั้ง 2 บริษัทลูก ร.ฟ.ท.ปลายปีนี้ นำร่อง บ.บริหารสินทรัพย์ทุน 200 ล้าน

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลัง มาซาโต คาเนโกะ (Masato Kaneko) General Manager of Transportation Project Division บริษัท มิตซุย แอนด์ คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด เข้าพบในโอกาสเข้ารับตำแหน่งว่า ทางบริษัทมิตซุยให้ความสนใจในการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงท่าอากาศยาน 3 แห่ง (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานอู่ตะเภา) โดยให้ความเห็นว่าไทยควรกำหนดกระบวนการประมูลให้มีความสะดวกและง่ายต่อนักลงทุนที่สนใจจะเข้ามาร่วมประมูล ไม่เกิดการปิดกั้น โดยเฉพาะความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (PPP) รูปแบบ PPP-Net Cost (เอกชนได้รับสิทธิ์ในการจัดเก็บรายได้ และจัดสรรผลตอบแทนบางส่วนให้แก่ภาครัฐตามข้อตกลง ซึ่งเอกชนจะต้องรับความเสี่ยงจากผลดำเนินงานทั้งหมด) กับ PPP-Gross Cost (ภาครัฐจัดเก็บรายได้ทั้งหมด และชดเชยค่าตอบแทนให้บริษัทเอกชนตามค่าใช้จ่าย) นั้นมีความแตกต่างกันในแง่ความคุ้มค่าในการลงทุนของเอกชน ซึ่งเห็นว่ารูปแบบ PPP-Gross Cost จะง่ายและคุ้มค่าสำหรับนักลงทุนมากกว่า

ทั้งนี้ ได้ชี้ถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างจะได้ประโยชน์ และได้เปรียบในแง่ต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่าอยู่แล้ว นอกจากนี้ ในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย (EEC) มีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก แม้ว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงแล้วเกิดการขาดทุนบ้าง แต่ในภาพรวมภาคเอกชนของญี่ปุ่นที่ลงทุนในพื้นที่ EEC ล้วนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการบริหารจัดการและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะเกิดตามมาอีก รวมถึงการพัฒนา EEC ของไทยเป็นโครงการที่จะเชื่อมต่อกับประเทศ CLMV คือประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ซึ่งการเข้ามาลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินจะมีศักยภาพเพิ่มเติมในอนาคต เพราะจะสามารถเข้าถึงตลาดใหญ่ๆ ได้อย่างน้อย 3 ตลาด โดยฝั่งประเทศพม่ามีมากกว่า 90 ล้านคน ด้านเวียดนามอีก 90 ล้านคนและด้านใต้ทางมาเลเซียลงไปกว่า 200 ล้านคน ดังนั้น การเข้ามาลงทุนของญี่ปุ่นมีประเด็นที่ต้องพิจารณาถึงประโยชน์ที่ญี่ปุ่นเองจะได้รับเพิ่มเติมหลายเรื่อง

ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ศึกษา ทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเสร็จแล้ว จากนั้นทาง EEC จะกำหนดร่าง TOR ซึ่งจะมีความชัดเจนในเรื่องเงื่อนไขการประมูล การเข้าร่วมทุน และจะมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เข้ามาร่วมในโครงการด้วยหรือไม่ ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ประกาศ TOR ภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้าจะเปิดประมูลภายในไตรมาส 1 ของปี 2561

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูก ร.ฟ.ท.นั้น นายพิชิตกล่าวว่า จะจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ได้ก่อน โดยปลายเดือน พ.ย.นี้จะมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ร่วมกับ ร.ฟ.ท.กำหนดทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท โดยมีสัญญาเช่า และมีรายได้อยู่แล้ว 2,400 ล้านบาทต่อปี จากนั้นจะมีการประมูลที่ดินแปลงใหญ่ ซึ่งจะมีรายได้เพิ่มเติมอีก

อย่างไรก็ตาม บริษัทลูก ร.ฟ.ท.จะมีการบริหารงานอิสระ เป็นเอกชนเชิงธุรกิจเต็มตัว การเมืองเข้าไปแทรกแซงได้น้อย โดยโครงสร้างกรรมการบริษัทในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจะมีมากกว่ากรรมการที่แต่งตั้งจาก ร.ฟ.ท. แต่ทั้งนี้ทาง ร.ฟ.ท.จะมีอำนาจในการยับยั้ง (วีโต้) อยู่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรถไฟได้อย่างเต็มที่
กำลังโหลดความคิดเห็น