xs
xsm
sm
md
lg

“คิงส์เกต” ยื่นอนุญาโตฯ รุกเปิดเหมืองทองคำ ก.อุตฯ ยันพร้อมเจรจาหาข้อยุติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรม เผยกรณี “คิงส์เกต” ยื่นให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ อ้างได้รับผลกระทบจากคำสั่ง คสช.ระงับกิจการทำเหมืองแร่ทองคำ ย้ำกระทรวงตั้งทีมฯ พร้อมเจรจาหาข้อยุติแล้ว ยันยังไม่ได้ยอมรับข้อเรียกเรียกร้องการเปิดเหมือง

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ยื่นให้ประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเนื่องจากได้รับผลกระทบจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ให้ระงับการอนุญาตและการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมดในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว รวมทั้งกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดและจัดให้มีมาตรการเยียวยาแก้ไขผลกระทบด้านต่างๆ เนื่องจากมีประชาชนร้องเรียนการได้รับผลกระทบและคัดค้านการทำเหมืองที่อาจทำให้สิ่งแวดล้อมปนเปื้อนมาเป็นเวลานานว่า กระทรวงฯ ได้เตรียมการสำหรับการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายยังสามารถดำเนินการเจรจาเพื่อหาข้อยุติร่วมกันต่อไป และยืนยันว่ารัฐบาลไทยยังไม่ได้ยอมรับข้อเรียกร้องของคิงส์เกตในการขอดำเนินการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำต่อไปแต่อย่างใด

“การเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ซึ่งบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด (คิงส์เกต) ประเทศออสเตรเลีย ผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ผู้ถือประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำจังหวัดพิจิตร และเพชรบูรณ์ ได้ยื่นหนังสือขอปรึกษาหารือกับรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2560 โดยอาศัยสิทธิตามข้อตกลง TAFTA และล่าสุดได้ใช้สิทยื่นให้คิงส์เกตและประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามกระบวนกาอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังสามารถเจรจาได้” นายพสุกล่าว

รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหัวหน้าคณะและมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ เช่น กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น เพื่อเจรจาและหาข้อยุติอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งคณะกรรมการฯ ดำเนินการเจรจาโดยยึดหลักการคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนรวมทั้งให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้อง โดยให้สอดคล้องกับกรอบนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการแร่ทองคำใหม่และพระราชบัญญัติแร่ฉบับใหม่ ที่รัฐบาลได้ยกร่างขึ้นและมีผลบังคับใช้แล้วที่จะทำให้การบริหารจัดการกิจการที่เกี่ยวกับแร่ทองคำและแร่อื่นๆ ของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและรัดกุมกว่าในอดีต และกระทรวงอุตสาหกรรมขอยืนยันว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาอย่างเคร่งครัด
กำลังโหลดความคิดเห็น