xs
xsm
sm
md
lg

“ซัยโจ เด็นกิ” ปรับทิศโหม ตปท. ตลาดแอร์ดิ่งสุด 20% ในรอบ 20 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - “ซัยโจ เด็นกิ” ปรับแผนรุกตลาดแอร์ เร่งเครื่องเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็น 50% เท่ากับในไทย สยายปีกตลาดใหม่ลุยแอร์นวัตกรรม ลดเสี่ยงในไทยที่มีปัญหาการทำตลาดมาก เผยตลาดรวมปีนี้ตกต่ำสุดในรอบ 20 ปีถึง 20% พร้อมรุกหนักแอร์อินเวอร์เตอร์ ดันสัดส่วนเป็น 30% ในปีหน้า

นายธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อ “ซัยโจ เด็นกิ” เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจแอร์ซัยโจเด็นกิใหม่ ด้วยการหันมาเพิ่มสัดส่วนการทำตลาดส่งออกต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการขยายตลาดและสร้างศักยภาพให้กับการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นการลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ จากเดิมที่เน้นหนักและมีรายได้หลักมาจากตลาดในประเทศไทยอย่างเดียวเท่านั้น

โดยในปีหน้า (2561) บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเ ทศเป็น 50% จากรายได้รวมประมาณ 3,000 ล้านบาท ด้วยการมองหาตลาดต่างประเทศตลาดใหม่ๆ เช่น ปีหน้ามีแผนที่จะศึกษาและขยายตลาดในยุโรปเพิ่มอีกหลายประเทศ เช่น เยอรมนี และอิตาลี เป็นต้น จากเดิมปีนี้ที่มีรายได้จากต่างประเทศประมาณ 40% หรือจากรายได้รวมปีนี้ประมาณ 2,000 ล้านบาท และเป็นสัดส่วนรายได้จากในประเทศ 60%

นายธันยวัฒน์กล่าวว่า บริษัทฯ จะเน้นขยายตลาดประเทศที่มีกำลังซื้อสูงเป็นหลัก เพราะว่าต้นทุนการพัฒนาวิจัยและผลิตของบริษัทฯ ค่อนข้างสูงเพราะเน้นสินค้าคุณภาพจึงมีราคาแพง ซึ่งทำให้การทำตลาดในตลาดอาเซียนทำได้ไม่เต็มที่ ที่ต้องการสินค้าราคาไม่สูงอีกทั้งการแข่งขันก็รุนแรงด้วย โดยเฉพาะสินค้าจากแบรนด์จีนที่เน้นเรื่องราคา

ส่วนสาเหตุที่ให้ความสำคัญต่อตลาดต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากตลาดในประเทศไทย เป็นตลาดที่มีความผันผวนต่อเนื่อง และมีปัจจัยลบต่อเนื่องมาตลอด ภาวะเศรษฐกิจไทยก็ยังไม่ฟื้นตัวในระดับที่ดีเท่าที่ควร กำลังซื้อลดลง ขณะเดียวกันอีกปัจจัยที่สำคัญคือ สภาพภูมิอากาศที่มีความไม่แน่นอน แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่มีอากาศร้อน แต่บางช่วงฝนตกต่อเนื่องทำให้ตลาดแอร์ไม่เติบโต

ทั้งนี้ ปีนี้ 2560 เป็นปีที่กล่าวได้ว่าตลาดแอร์เผชิญปัญหาอย่างหนัก ทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ไม่กระเตื้อง อากาศที่ไม่เป็นใจเพราะมีฝนตกชุก ส่งผลกระทบต่อตลาดรวมแอร์ในไทยปีนี้ตกลงมากถึง 20% ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 20 ปีเลยก็ว่าได้ จากปริมาณรวมแอร์ในไทยที่มีประมาณ 1.2-1.3 ล้านเครื่อง โดยกลุ่มตลาดแอร์บ้านเป็นตลาดที่ตกลงมากที่สุดถึง 25% ด้วยมูลค่าตลาดรวมประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาท

ภาพรวมตลาดในช่วง 2 เดือนสุดท้ายปี 2560 นี้คาดว่าจะมีการทำโปรโมชันส่งเสริมการขายมากขึ้นเพราะไม่ใช่เป็นช่วงหน้าขายแอร์แต่อย่างใด อีกทั้งคนไทยยังอยู่ในภาวะเศร้าโศก ยังไม่มีอารมณ์จับจ่ายมากเท่าใดนัก ซึ่งทั้งปี 60 นี้บริษัทฯ ใช้งบโฆษณาน้อยมากแค่ 10 ล้านบาท

ส่วนปีหน้าคาดว่าบรรยากาศจะกระเตื้องขึ้น จึงวางแผนที่จะใช้งบการตลาดกว่า 60 ล้านบาทเพื่อทำการประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมการขายต่างๆ รวมทั้งการเปิดตัวสินค้าใหม่มากถึง 50 รายการ ทั้งกลุ่มแอร์บ้าน และกลุ่มแอร์ขนาดกลาง

นายธันยวัฒน์กล่าวด้วยว่า ทิศทางตลาดรวมแอร์ในไทยจากนี้จะหันมาใช้น้ำยาแอร์ อาร์32 มากขึ้น และในที่สุดตลาดรวมจะเป็นน้ำยาแอร์แบบนี้ ซึ่งจะช่วยทำให้ลดโลกร้อน และไม่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ และตลาดแอร์อินเวอร์เตอร์ก็เติบโตมากขึ้นเพราะเป็นแอร์ที่ช่วยการฟอกอากาศ และที่สุดก็จะพัฒนาไปถึงขั้น สมาร์ทแอร์ ที่ควบคุมการเปิด-ปิดด้วยมือถือ

ทั้งนี้ ในแต่ละปีบริษัทฯ จะมีงบประมาณกว่า 100-150 ล้านบาทที่นำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมากขึ้นกว่าในอดีตเพราะช่วยประหยัดพลังงานได้ 40-50% และยังดีต่อสุขภาพด้วยเพราะมีระบบฟอกอากาศ และที่สำคัญระดับราคาแอร์อินเวอร์เตอร์เริ่มขยับลงมาใกล้เคียงกับแอร์แบบธรรมดาแล้วหรือต่างกันไม่มากนักแค่ 10-15% จากเดิมราคาห่างกันมากถึง 40% จึงเป็นสิ่งจูงใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจใช้ได้ง่าย

คาดว่าในปีนี้บริษัทฯ จะมียอดขายจากแอร์ระบบอินเวอร์เตอร์เพิ่มเป็น 30% จากเดิม 20% และเพิ่มเป็น 100% ในอีก 5 ปีจากนี้หรือภายในปี 2565 เช่นเดียวกับตลาดรวมแอร์ที่คาดว่าจะปรับมาเป็นอินเวอร์เตอร์ทั้งหมดในอนาคตอีก 5 ปีนับจากนี้เหมือนกัน เช่นเดียวกับในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่นที่ตลาดรวมเป็นแอร์แบบอินเวอร์เตอร์ 99% แล้ว หรือที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเวอร์เตอร์กว่า 80% ส่วนที่สิงคโปร์ก็ประมาณ 70% แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น