xs
xsm
sm
md
lg

สนข.เปิดแผนลงทุนกว่า 2.7 ล้านล้าน พัฒนาโครงข่ายทางรถไฟรองรับเขต ศก.พิเศษ และ TOD

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.เผยแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 20 ปี (60-79) ลงทุนกว่า 2.7 ล้านล้านบาท แบ่ง 3 ระยะ โดยระยะเร่งด่วนลงทุนไม่น้อยกว่า 8.29 แสนล้าน ผลักดันรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ รถไฟสายใหม่ และรถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ระยะทาง 2,457 กม. เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้า เพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการของประเทศ

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้ศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ เพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางในภูมิภาคต่างๆ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการให้บริการ สร้างความมั่นใจแก่ผู้ใช้บริการและนักลงทุน ตลอดจนส่งเสริมระบบรางให้เป็นโครงข่ายหลักในการเดินทาง พร้อมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ

โดยการศึกษาแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ แผนการดำเนินงานระยะสั้น (ระยะเร่งด่วน) เป็นโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และโครงการที่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายใน 5 ปีแรกตามแผนแม่บทฯ (พ.ศ. 2560-2564) แผนการดำเนินการระยะกลาง เป็นโครงการที่สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงปีที่ 6-10 ตามแผนแม่บทฯ (พ.ศ. 2565-2569) แผนการดำเนินการระยะยาวเป็นโครงการที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายหลังปีที่ 10 ตามแผนแม่บทฯ (พ.ศ. 2570-2579)

สำหรับการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟครอบคลุมทั่วประเทศ ประกอบด้วย 1. การพัฒนาทางคู่ในโครงข่ายทางรถไฟปัจจุบัน รวมระยะทาง 2,777 กม. แบ่งเป็น แผนระยะเร่งด่วน เช่น รถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, รถไฟทางคู่ สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ แผนระยะกลาง เช่น รถไฟทางคู่สายปากน้ำโพ-เด่นชัย, รถไฟทางคู่สายชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด, รถไฟทางคู่สายสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา, รถไฟทางคู่ชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ แผนระยะยาว เช่น รถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่, รถไฟทางคู่ช่วงชุมทางคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ

2. แผนพัฒนาโครงการทางรถไฟสายใหม่ (Meter gauge) รวมระยะ 2,352 กม. แบ่งเป็น แผนระยะเร่งด่วน เช่น รถไฟสายเด่นชัย-เขียงของ, รถไฟสายบ้านไผ่-นครพนม แผนระยะกลาง เช่น รถไฟสายนครสวรรค์-ตาก-แม่สอด, รถไฟสายกาญจนบุรี-บ้านภาชี แผนระยะยาว เช่น รถไฟสายมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด, รถไฟสายอุบลราชธานี–ช่องเม็ก, รถไฟสายสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก

3. แผนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง (Standard gauge) รวมระยะ 2,457 กม. แบ่งเป็น แผนระยะเร่งด่วน ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-ระยอง, รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หัวหิน แผนระยะกลาง ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก, รถไฟความเร็วสูงสายนครราชสีมา-หนองคาย ส่วนแผนระยะยาว ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงสายพิษณุโลก-เชียงใหม่, รถไฟความเร็วสูงสายหัวหิน-สุราษฎร์ธานี, รถไฟความเร็วสูงสายสุราษฎร์ธานี- ปาดังเบซาร์

4. การจัดสรรตำแหน่งคลังเก็บสินค้า (Container yard : CY) แบ่งเป็น แผนระยะเร่งด่วน เช่น หว้ากอ, หนองปลาดุก แผนระยะกลาง เช่น ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าโลจิสติกส์นาทา ส่วนแผนระยะยาว เช่น ห้างฉัตร, สารภี

5. แผนการพัฒนาระบบการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้า ซึ่งแบ่งเป็น แผนระยะเร่งด่วน คือ การศึกษาเพื่อจัดทำแผนที่นำทางของการปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้ระบบไฟฟ้าในการเดินรถ ส่วนแผนระยะกลาง เช่น การก่อสร้างและติดตั้งระบบการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางช่วงชุมทางบางซื่อ-บ้านภาชี-แก่งคอย-ถนนจิระ และยังมีแผนระยะยาว เช่น การก่อสร้างและติดตั้งระบบการเดินรถด้วยระบบไฟฟ้าในเส้นทางช่วงชุมทางบางซื่อ-หนองปลาดุก-หัวหิน นอกจากนี้ ในแผนแม่บทฯ ยังมีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัย และการวางแผนจัดหารถจักรและล้อเลื่อนด้วย

แหล่งข่าวจาก สนข.กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการตามแผนแม่บทนั้นแบ่งเป็น 3 ระยะเช่นกัน โดยรวมทุกแผนงานในระยะเร่งด่วนมูลค่า 829,802 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 642,802 ล้านบาท และจากภาคเอกชน 187,000 ล้านบาท ส่วนระยะกลางการลงทุนรวม 897,568 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 692,128 ล้านบาท และภาคเอกชน 205,441 ล้านบาท ส่วนการลงทุนในระยะยาวมีมูลค่าอยู่ที่ 975,564 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐ 638,922 ล้านบาท และภาคเอกชน 336,642 ล้านบาท

รวมงบประมาณในการลงทุนตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ระยะเวลา 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) รวมมูลค่ากว่า 2,702,934 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐทั้งสิ้น 1,973,851 ล้านบาท และจากภาคเอกชนรวม 729,083 ล้านบาท โดยหากคิดค่าเฉลี่ยของการลงทุนในระยะเวลา 20 ปีของแผนแม่บท จะมีมูลค่าลงทุนเฉลี่ยปีละ 135,147 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนจากภาครัฐเฉลี่ยปีละ 98,693 ล้านบาท และภาคเอกชนเฉลี่ยปีละ 36,454 ล้านบาท สำหรับการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จากการลงทุนตามแผนแม่บท ซึ่งจะเสร็จสิ้นในปี 2580 รวมกว่า 408,008.64 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่สะดวกและปลอดภัยจะเอื้อประโยชน์ให้การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ที่สำคัญยังมีส่วนช่วยสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนาพื้นที่ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น