xs
xsm
sm
md
lg

“ปิยสวัสดิ์” ยันต้นทุนพลังงานหมุนเวียนแข่งได้ จี้รัฐเปิดประมูลแข่งราคา-เลิกอุดหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปิยสวัสดิ์” มั่นใจพลังงานหมุนเวียนจะเป็นพลังงานหลักของประเทศแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต หลังพลังงานหมุนเวียนโดยเฉพาะพลังงานแสงแดดและลมมีต้นทุนแข่งขันได้แล้ว แนะรัฐเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้ง SPP-VSPP แบบ Fit ที่ไม่สูงเกินจริง-เลิกอุดหนุน เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อผู้ใช้ไฟอีกต่อไป

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปฏิรูปพลังงานไทย...ไปทางไหนดี” ว่า การปฏิรูปพลังงานไทยจะต้องคำนึงเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพันธสัญญาการประชุม COP 21 ณ กรุงปารีส เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส ทำให้ระยะยาวการใช้พลังงานมุ่งสู่พลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น กอปรกับการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนลดลงมาก ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม แสงอาทิตย์ แม้ว่าปัจจุบันพลังงานหมุนเวียนจะยังไม่สามารถทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้เต็มที่ 100% แต่เมื่อมีการพัฒนาแบตเตอรี่ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีราคาต่ำลง พลังงานหมุนเวียนกลายเป็นพลังงานหลักของประเทศไทย

ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปมีความคุ้มค่า หากเทียบกับการซื้อไฟฟ้าในอัตราการใช้ไฟฟ้าตามช่วงเวลา(TOU) แต่หากรัฐมีการเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (แบ็กอัพเรต) ก็จะลดแรงจูงใจในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปลงไปบ้าง แต่เชื่อว่ายังมีติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอยู่

ปัจจุบันต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนลดต่ำลงมากจนสามารถแข่งขันกับพลังงานฟอสซิลได้ ดังนั้นการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็ก (SPP) และรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) รัฐไม่จำเป็นต้องออกมาตรการอุดหนุนด้านราคาเหมือนในอดีต หรือแม้แต่การกำหนดรับซื้อไฟฟ้าแบบ FiT ในราคาที่สูง แต่ให้ใช้รูปแบบการกำหนดราคารับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่อ้างอิงกับต้นทุนที่หลีกเลี่ยงได้ของการไฟฟ้า (Avoided Cost) ซึ่งอดีตเคยอ้างอิงกับราคาน้ำมันเตาและถ่านหิน แต่ปัจจุบันควรอ้างอิงกับราคาก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งให้เปิดประมูลแข่งขันด้านราคาแทนที่จะใช้วิธีการจับฉลาก ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่เป็นภาระแก่ผู้ใช้ไฟอีกต่อไป

“ค่าไฟที่สูงขึ้นไม่ได้มาจากต้นทุนพลังงานหมุนเวียน แต่มาจากมาตรการของรัฐที่ทำให้สูงโดยไม่จำเป็น วันนี้พลังงานลมและแสงอาทิตย์แข่งขันได้แล้ว โดยกำหนดราคาค่าไฟแบบ Avioded Cost เป็นราคาเดียว หากเอกชนใดทำได้ก็ทำ หากทำไม่ได้ก็ไม่ต้องทำ แต่อาจจะอุดหนุนเล็กน้อยถ้าพลังงานหมุนเวียนนั้นส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปรับปรุงเงื่อนไขมาตรฐานเทคนิคการเชื่อมโยงระบบจากเดิมที่เข้มงวดเกินไป ทำให้การติดตั้งพลังงานหมุนเวียนเช่นโซลาร์รูฟท็อปทำได้ยากขึ้น ต้นทุนสูงขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น ซึ่งกระทรวงพลังงานควรทบทวน”

นอกจากนี้ การที่กระทรวงพลังงานคิดว่าการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเป็นการกระจายการใช้เชื้อเพลิงช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานนั้น ตนมองว่าไม่ควรยึดติดกับการกระจายเชื้อเพลิง เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก หลังมีการค้นพบ Shale Gas มากขึ้น ทำให้โครงสร้างตลาดก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของโลกเปลี่ยนไป ราคาแอลเอ็นจีถูกกว่าอดีตที่เคยสูงถึง 16 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แต่ปัจจุบันราคาแอลเอ็นจีอยู่ที่ 6-7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแอลเอ็นจีถูกกว่าถ่านหินแล้ว ดังนั้น การวางแผนกระจายเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงด้านพลังงานเป็นแนวทางที่ถูกต้องแต่จะต้องกระจายทั้งชนิดและแหล่งเชื้อเพลิง
กำลังโหลดความคิดเห็น