xs
xsm
sm
md
lg

“อุตตม” เร่งขับเคลื่อนฐานความเจริญใหม่ จ่อคลอดแผนพัฒนาไบโอชีวภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมสร้างฐานความเจริญใหม่รายภูมิภาคสนองนโยบายนายกฯ จ่อคลอดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพชง ครม.เร็วๆ นี้ หลังเอกชนสนใจพัฒนาทั้งที่ขอนแก่น-นครราชสีมา พร้อมดัน จ.อุดรธานีฮับลอจิสติกส์ทั้งทางบก และอากาศ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในการเป็นประธานเปิดคลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐที่จังหวัดอุดรธานีซึ่งเป็นครั้งที่ 8 ว่า จากการหารือร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ได้เสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเศรษฐกิจชีวภาพ หรือ Bioeconomy ซึ่งจะถือเป็นการสร้างฐานความเจริญใหม่ และต้องการผลักดันให้จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าและการขนส่ง (ลอจิสติกส์ฮับ) ทั้งทางบกและอากาศ รวมไปถึงศูนย์ซ่อมอากาศยานในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง

“ทั้งหมดนี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้มีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเอกชนว่าจะมีการลงทุนอย่างไร หากอุดรธานีจะเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้ก็ต้องเตรียมพร้อมหลายด้าน โดยอาจจะต้องหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในการเชื่อมโยงระบบรถไฟเข้าไปยังนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีที่มีแผนจะพัฒนาลอจิสติกส์และจะไปเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีด้วยในแง่ของศูนย์ซ่อมอากาศยาน” นายอุตตมกล่าว

ทั้งนี้ นโยบายของนายกรัฐมนตรีมุ่งเน้นการสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งจากภายในและสร้างอนาคตใหม่เป็นฐานความเจริญใหม่ ซึ่งอีอีซีนั้นเริ่มจากการต่อยอดจากฐานอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม เมื่อมองภาคอีสาน ภาคเกษตร ปศุสัตว์ ก็ต้องมองการต่อยอดจากที่มีไปสู่มูลค่าเพิ่ม และหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญคือไบโอชีวภาพเพราะมีเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ น้ำตาล อ้อย มันสำปะหลัง โดยการพัฒนาลักษณะนี้จะมีกระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั้งเหนือ กลาง และใต้ และเกิดการเชื่อมโยงกัน และที่สุดก็จะเหมือนกับการพัฒนาอีอีซี แต่สิ่งสำคัญคือการทำให้เอสเอ็มอีเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมและมุ่งให้สอดรับกันในแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ และสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองที่เชื่อมโยงกับชายแดนไทย-ลาว ตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดอุดรธานีที่ต้องการ “เป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” กระทรวงฯ จึงได้ให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีด้วยเครื่องมือในการต่อยอดทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทยในทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาผู้ประกอบการให้ก้าวสู่ SMART SMEs การเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐาน การส่งเสริมการใช้ระบบดิจิตอลเพื่อเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ และการบริการผ่านศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่จัดตั้งขึ้นภายในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 จังหวัดอุดรธานี รวมถึงการช่วยเหลือด้านมาตรการการเงินในรูปแบบสินเชื่อกองทุนต่างๆ ได้แก่

กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และมาตรการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงิน 2,000 ล้านบาท เป็นวงเงินรวม 38,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินให้เอสเอ็มอีมีเงินทุนนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีศักยภาพเพียงพอในการพัฒนาสินค้า และการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีน ต่อไป

สำหรับความสำเร็จของคลินิกสัญจร 7 ครั้งที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมงานกว่า 6,000 คน และมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เข้าขอรับการสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำที่จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการจากทั่วประเทศยื่นคำขอจากทั้ง 4 มาตรการแล้ว 19,157 ราย รวมเป็นวงเงิน 35,590 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในการจัดคลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐในครั้งนี้ ตั้งเป้าหมายครอบคลุมพื้นที่ 2 กลุ่มจังหวัด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง) โดยข้อมูลล่าสุดพบว่ามีผู้ยื่นคำขอจากพื้นที่ 2 กลุ่มจังหวัดเข้ามาแล้วจำนวน 2,497 ราย วงเงิน 4,234.22 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2560)

ทั้งนี้ ในการจัดคลินิกสัญจรยังมีการให้คำปรึกษาแนะนำโดยการส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้าไปวินิจฉัยและให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในด้านต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีอย่างครบวงจรทั้งในด้านการเงินและด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอีกด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1358
กำลังโหลดความคิดเห็น