xs
xsm
sm
md
lg

เอกชน 40 รายส่อวืดใบอนุญาต กพร.ไม่ยื่นกฤษฎีกาผ่อนผัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กพร.แจงผู้ที่ยื่นคำขอและต่อใบอนุญาตการพัฒนาแร่ต่างๆ เว้นทองคำที่ค้างอยู่ 40 ราย หากภายใน 28 ส.ค.นี้ “อุตตม” ไม่พิจารณาต้องเริ่มกระบวนการนับหนึ่งตาม พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ 29 ส.ค.นี้ จะไม่มีการยื่นให้กฤษฎีกาพิจารณาผ่อนผัน ส่วนทองคำยังต้องทำตามคำสั่ง คสช.

นายวิษณุ ทับเที่ยง รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยว่า กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ยังคงดำเนินการคำขออาชญาบัตร ประทานบัตร ต่ออายุประทานบัตร และใบอนุญาตต่างๆ ตามขั้นตอนปกติ เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการตรวจสอบข้อมูลด้านต่างๆ เช่น คุณสมบัติของผู้ขอ ผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ มาตรการและกองทุนต่างๆ ที่จะนำไปพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนดูแลสุขภาพประชาชน เมื่อเอกสารหลักฐานต่างๆ ถูกต้อง ครบถ้วน จึงประมวลเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติแร่ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ จากนั้นจึงนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาต่อไป

ปัจจุบันมีผู้ยื่นคำขออาชญาบัตร ประทานบัตรทำเหมืองแร่ และต่ออายุใบอนุญาต ที่ยังค้างอยู่ในความรับผิดชอบ จำนวน 40 ราย ซึ่งหากไม่สามารถพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จทันภายในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ ก็จะดำเนินการคำขอทั้งหมดเข้าอยู่ภายใต้บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ทันที ทั้งนี้ จะไม่มีการเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาผ่อนปรนใดๆ สำหรับผู้ประกอบการ ที่ได้รับอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ก่อนวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ให้ถือเป็นอาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 จนกว่าจะสิ้นอายุหรือถูกเพิกถอน ซึ่งการเป็นผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แร่ ฉบับใหม่

ส่วนกรณีเหมืองแร่ทองคำ กพร.ยังคงดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 72/2559 เรื่อง การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะกรรมการ ดังนั้น การดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับเหมืองแร่ทองคำจะเป็นไปตามมติของ คนร. ส่วนกรณีการตรวจพิสูจน์บ่อเก็บกากแร่รั่วหรือไม่ โดยนักวิจัยชาวญี่ปุ่นภายใต้การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ทำการวิจัยได้ส่งรายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว แต่คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงการรั่วซึมของบ่อกักเก็บกากแร่ที่ 1 ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ยังมีประเด็นต้องการสอบถามในรายละเอียด จึงจะได้มีการเชิญผู้ทำการวิจัยมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในเร็วๆ นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น