xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” จี้ บสย.เร่งค้ำประกัน SMEs ให้ครบวงเงิน 8.3 หมื่นล้านบาทให้จบสิ้นปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สมคิด” นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วม ก.อุตฯ คลัง กกร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการเงินเอสเอ็มอี ไล่บี้ “บสย.” ต้องเร่งค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี 8.3 หมื่นล้านบาทให้ครบในสิ้นปี พร้อมให้ทุกส่วนถก ธปท.รับมือให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแนวทางป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินบาท “อุตตม” เผยธุรกิจใหญ่และเอสเอ็มอีญี่ปุ่น 500 กว่ารายเตรียมตบเท้าร่วมมือกับไทยและดูลู่ทางลงทุนอีอีซี 11 ก.ย.นี้




นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานประชุมมาตรการสนับสนุนด้านการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปลัดกระทรวงการคลัง ฯลฯ เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม คลัง สมาคมธนาคารไทย กกร.ร่วมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการหามาตรการสนับสนุนด้านการเงินให้กับเอสเอ็มอีเพื่อที่จะสรุปมาตรการช่วยเหลือด้านต่างๆ ให้ชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้

โดยแนวทางที่สำคัญได้มอบให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เร่งค้ำประกันสินเชื่อให้ได้ตามวงเงินที่กำหนด 1 แสนล้านบาทภายในสิ้นปีนี้ เพราะขณะนี้มีการค้ำประกันเพียง 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำมาก รวมถึงให้พิจารณาขยายวงเงินขอค้ำประกันโดยไม่ใช้หลักทรัพย์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 23.75% แต่จะขยายเป็นสัดส่วนเท่าใดนั้นยังต้องหารือร่วมกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง

“เงินค้ำประกันที่เหลือ 8.3 หมื่นล้านบาทต้องเร่งทำให้ครบภายในสิ้นปีนี้ และคงต้องไปดูว่าจะจัดสรรเงินอย่างไรให้กระจายออกไป รวมไปถึงอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมโดยเฉพาะแบงก์รัฐเองทั้งธนาคารกรุงไทย และออมสินก็ต้องไปดูว่าจะทำอย่างไร” นายสมคิดกล่าว

พร้อมด้วยการหาข้อสรุปมาตรการสนับสนุนให้เอสเอ็มอีสามารถส่งออกไปยังตลาดโลก โดยต้องให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เน้นการส่งเสริมการป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนหรือเฮดจิ้ง เพราะปัจจุบันการสนับสนุนมักกระจุกตัวอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ เท่านั้น โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ควรมุ่งส่งเสริมให้เอสเอ็มอีลงทุนในกลุ่ม CLMV และกระทรวงอุตสาหกรรมต้องติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ส่วนการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ ต้องเริ่มนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้ในธุรกิจมากขึ้น พร้อมผลิตบุคลากรที่จะเป็นผู้ให้ความรู้แก่เอสเอ็มอีช่วยให้คำแนะนำในการปรับตัว โดยได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ดำเนินการ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันที่ 11 กันยายน กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) พร้อมด้วยสหพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (ไคดันเรน) จะนำนักธุรกิจญี่ปุ่นทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอีกว่า 500 บริษัทมาเยือนไทย ซึ่งส่วนหนึ่งจะเข้าพบปะกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการหารือร่วมกับภาคเอกชนไทยที่จะร่วมมือใน 3 ด้านสำคัญได้แก่ 1. ความร่วมมือที่จะสนังสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 2. ความร่วมมือพัฒนาเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น และ 3. การพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)

นายนิธศ มนุญพร กรรมการผู้จัดการทั่วไป บสย. กล่าวว่า เตรียมหารือกับสมาคมธนาคารไทยเพื่อที่จะรับทราบเงื่อนไขต่างๆ ก่อนนำเสนอกระทรวงการคลังก่อนนำเสนอ ครม.ภายในเดือนนี้ โดยจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเร็วๆ นี้เพื่อสนับสนุนมาตรการทางการเงิน ได้แก่ 1. ฟรีค่าธรรมเนียมปีแรก 2. จัดโควตาพอร์ตค้ำประกันให้แต่ละธนาคาร 3. เพิ่ม Max Claim จาก 23.75% เป็น 30% โดยจะต้องเร่งให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560
กำลังโหลดความคิดเห็น