xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยเผย Q1/60 กำไรทรุด 47.3% เหตุแข่งขายตั๋วถูก ราคาน้ำมันขยับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“การบินไทย” เผยผลไตรมาส 1/60 กำไรทรุด 47.3% เทียบกับปีก่อน เหตุแข่งขันสูงทำให้ต้องขายตั๋วราคาถูก ขณะที่ราคาน้ำมันเริ่มขยับ แถมมีคิวซ่อมใหญ่ B777 จำนวน 14 ลำ ทำค่าใช้จ่ายเพิ่มไตรมาสละ 300 ล.แต่ยังมั่นใจรายได้ 60 ทั้งปีตามเป้า 1.8 แสนล้าน ปรับกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาด ทำโค้ดแชร์เพิ่ม รับมอบเครื่องใหม่ 7 ลำ เพิ่มความถี่เส้นทางมีกำไร

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 2560 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 3,169 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 47.3% โดยเป็นกำไรจากการดำเนินงานธุรกิจการบิน (Operating Profit) จำนวน 2,867 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 60.1% สาเหตุหลักมาจากค่าน้ำมันเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อนถึง 45.8% ประกอบกับรายได้จากผู้โดยสารเฉลี่ยต่อหน่วย (Yield) ต่ำกว่าปีก่อน 12.0% เนื่องจากการแข่งขันราคาที่รุนแรงและการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมัน (Fuel Surcharge) โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 3,157 ล้านบาท

ส่วนรายได้รวมทั้งสิ้น 49,804 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อยประมาณ 0.8% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากค่าโดยสารและน้ำหนักส่วนเกินลดลงจากการปรับอัตราค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมันลดลง และการแข่งขันที่รุนแรง ถึงแม้ว่าจะมีรายได้จากค่าระวางขนส่งและค่าไปรษณียภัณฑ์เพิ่มขึ้นจากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยมีจำนวนผู้โดยสารรวม 6.5 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.1% และแม้ว่าจะมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 11.6% และมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) เฉลี่ย 82.8% ซึ่งสูงกว่าปีก่อน 5.3% (ปี59 เฉลี่ย 77.5%) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมการบินที่ 80.1%

ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวม 46,937 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 3,934 ล้านบาท (9.1%) เนื่องจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 2,002 ล้านบาท (18.5%) จากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นถึง 45.8% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น 2,041 ล้านบาท (6.6%)

นางอุษณีย์กล่าวว่า กลยุทธ์ในช่วงไตรมาส 2/60 (เม.ย.-มิ.ย.) ซึ่งเป็น Low Season บริษัทฯ มีแผนส่งเสริมการตลาด มียอดจองตั๋วน่าพอใจระดับ 70% ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมั่นใจเป้าหมายรายได้ทั้งปีที่ 1.8 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5-10% ซึ่งจะมีการบริหารการบินร่วมกับ ไทยสมายล์ ซึ่งการบินไทยถือหุ้น 100% และนกแอร์ ซึ่งถือหุ้น39% ร่วมวางแผนเพื่อสนับสนุนการบินในทุกเส้นทางร่วมกัน เช่น ขายตั๋วร่วมกันในระบบเดียวกัน การเชื่อมต่อเที่ยวบินระหว่างกัน และทำโค้ดแชร์ร่วมกับสายการบินอื่นๆ ให้มากขึ้นในจุดที่การบินไทยไม่ได้ทำการบิน โดยประเมินว่า ปี 60 จะมีCabin Factor เฉลี่ยที่ 75-76%

ปัจจุบันมีฝูงบิน 95 ลำ ในปีนี้จะรับมอบเครื่องบิน 7 ลำ ได้แก่ A 350/4 ลำ, B787/2 ลำ ปลดระวาง 2 ลำ จะทำให้มีที่นั่งเพิ่มประมาณ 8% จากฝูงบินรวม 100 ลำ โดยจะมีการเพิ่มความถี่ในเส้นทางที่มีรายได้สูง อีกทั้งการได้รับ AOC ใหม่จะส่งผลดีต่อบริษัท รวมถึงหากสามารถปลดธงแดงได้จะทำให้สามารถเปิดจุดบินใหม่ได้ซึ่งกำลังทำแผนเพิ่มเส้นทาง

ขณะที่มีเครื่องบินที่ปลดระวางและอยู่ระหว่างรอขายอีก 20 ลำ ได้แก่ A340/9 ลำ, A330/4 ลำ, A300-600/1 ลำ, B 747/2 ลำ, B737-400/2 ลำ

โดยปี 2560 บริษัทฯ ได้เข้าสู่ระยะที่ 3 ของแผนปฏิรูปองค์กร คือ “การเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีกลยุทธ์ในการดำเนินงาน 6 กลยุทธ์ ได้แก่ 1) พัฒนาเครือข่ายการบินที่แข่งขันได้ ทำกำไรและลดความซับซ้อนของฝูงบิน 2) เพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันและเสริมสร้างรายได้ 3) สร้างความเป็นเลิศในการให้บริการ (Service Ring) 4) มีต้นทุนที่แข่งขันได้และการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ 5) สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความยั่งยืน และพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพดีเยี่ยม 6) บริหารบริษัทในเครือและกลุ่มธุรกิจ และพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจใหม่เพื่อความยั่งยืน โดยไตรมาสนี้มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การยกเลิกทำการบิน ที่ท่าอากาศยานดอนเมืองของสายการบินไทยสมายล์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2560 โดยใช้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นฐานการบินเพียงแห่งเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งในการปรับแผนยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวเปิดตลาดการบินใหม่ๆ ในต่างประเทศ เริ่มดำเนินการโครงการติดตั้ง Crew Rest และอุปกรณ์In-flight Connectivity บนเครื่องบินโบอิ้ง 787-8 จำนวน 6 ลำ นอกจากนี้ ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา กับบริษัท แอร์บัส อินดัสตรี เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 และลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานระยะที่ 1 และการพัฒนาศูนย์ขนส่งสินค้าทางอากาศและลอจิสติกส์ ระยะที่ 1 กับกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 เป็นต้น

ซ่อมใหญ่ B777 จำนวน 14 ลำ ทำค่าใช้จ่ายเพิ่มไตรมาสละ 300 ล้าน

นายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี การบินไทยกล่าวว่า ค่าใช้จ่ายรวม 46,937 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 9.1% เนื่องจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 2,002 ล้านบาท หรือ 18.5% จากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นถึง 45.8% ซึ่งบริษัทบริหารความเสี่ยง โดยเฮดจิ้งน้ำมันไว้ 65% ที่ระดับราคา 49-60 เหรียญสหรัฐ คาดว่าราคาน้ำมันในปีนี้จะอยู่ที่ 65-70 เหรียญ ซึ่งจะไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายมากนัก และไม่มีความจำเป็นที่จะเฮดจิ้งเพิ่ม

ส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยานนั้น นายณรงค์ชัยกล่าวว่า บริษัทฯ ต้องลงบัญชีค่าซ่อมแซมเครื่องยนต์ของเครื่องบิน B777 จำนวน 14 ลำ ซึ่งจะเข้าสู่รอบการซ่อมใหญ่ในปี 2562-2563 โดยทยอยลงบัญชีค่าซ่อมแซมตั้งแต่ปี 2560-2563 เฉลี่ยไตรมาสละ 300 ล้านบาท

“ในเดือน เม.ย. Cabin Factor ดี อยู่ที่ 85% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 4 เดือน ส่วน พ.ค.คาดว่าจะอยู่ที่ เกือบ 80% ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า ทุกสายการบินประสบปัญหาเดียวกันคือ รายได้ต่อผู้โดยสาร (Yield) ไม่ค่อยดี แม้ Cabin Factor จะสูง แต่การแข่งขันรุนแรง ทำให้ต้องขายตั๋วถูก และราคาน้ำมันเริ่มสูง เกือบทุกสายการบิยต้องยกเลิกการจัดเก็บ ค่าธรรมเนียมชดเชยค่าน้ำมัน (Fuel Surcharge) ซึ่งจะส่งผลต่อ Yield”

เผยผลสรรหาดีดี รอเสนอบอร์ดรอบหน้า

นายกนก ทองเผือก รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจการองค์กร การบินไทยกล่าวถึงการสรรหาดีดีการบินไทยว่า คาดว่าจะมีการเสนอผลการสรรหาต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) ในการประชุมครั้งหน้า โดยขณะนี้ผู้ผ่านคุณสมบัติ 4 คน ได้แสดงวิสัยทัศน์แล้ว ส่วนการสรรหารองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ขณะนี้มีผู้สมัครแล้ว 7 ราย แต่เพื่อให้มีผู้สมัครที่หลากหลายขึ้นจึงจะขยายเวลารับสมัครออกไปอีกจนถึงวันที่ 9 มิ.ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น