xs
xsm
sm
md
lg

กทท.รื้อแผนพัฒนาพื้นที่ “คลองเตย-ทลฉ.” ปรับเชื่อมโยงการพัฒนา EEC และอุตฯ ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พิชิต” สั่ง กทท.รื้อแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ ตั้งเป้าเพิ่มผลตอบแทนสินทรัพย์ที่มีกว่า 5 หมื่นล้าน จาก 1.2% เป็น 4-5% ชี้พื้นที่รอบท่าเรือคลองเตยเกือบ 700 ไร่ พัฒนาเป็นเมืองไอที หรือศูนย์ดูแลคนชรา โดยไม่ให้กระทบชุมชน พร้อมปรับบริการรองรับสินค้ายุคใหม่ มีมูลค่าสูงเน้นรวดเร็วด้าน “ผอ.กทท.” เด้งรับ เตรียมที่ปรึกษาทบทวนแผนพัฒนาท่าเรือ-เชิงพาณิชย์ เชื่อมอุตฯ ใหม่ และ EEC

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่าได้ให้นโยบายคณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหาร กทท.ในเรื่องการบริหารสินทรัพย์พื้นที่รอบท่าเรือให้มีผลตอบแทนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากพบว่ามูลค่าสินทรัพย์ของการท่าเรือมีกว่า 5 หมื่นล้านบาท แต่มีผลตอบแทนประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 1.21% ซึ่งได้ให้ปรับแผนการพัฒนาเพื่อให้ได้ตอบแทนในระดับเดียวกับกรมธนารักษ์ หรือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่บริหารสินทรัพย์มีผลตอบแทนที่ 4-5% ส่วนตลาดทั่วไป มีผลตอบแทนถึง 5% โดยการท่าเรือฯ มีพื้นที่รอบท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) เกือบ 700 ไร่ และพื้นที่รอบท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ประมาณ 3,000 ไร่

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทท.มีรายได้ปัจจุบัน 14,000 ล้านบาทต่อปี ตั้งเป้าหมายที่ 20% หรือประมาณ 2,800 ล้านบาท ต้องไปถึงให้ได้ ซึ่ง กทท.เป็นองค์กรความหวังของไทยแลนด์ 4.0 เนื่องจากรับการขนส่งถึง 80% ของสินค้านำเข้าและส่งออก ปัจจุบันท่าเรือมีขีดความสามารถรองรับสินค้าได้ 8 ล้านทีอียู/ปี มีเป้าหมายปี 2565 จะพัฒนาขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าเพิ่มเป็น 18 ล้านทีอียู/ปี ซึ่งจะมีการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, ท่าเรือกรุงเทพ รองรับการขนส่งชายฝั่ง

ทั้งนี้ ต้องปรับปรุงธุรกรรม และพัฒนาการให้บริการทั้งมิติด้านปริมาณและคุณภาพ เนื่องจากสินค้าและบริการจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจาก สินค้าที่มีน้ำหนักมาก มูลค่าน้อย เป็นของชิ้นเล็กน้ำหนักน้อยแต่มีมูลค่ามาก ซึ่งต้องการการดูแลด้านขนส่ง การท่าเรือฯต้องพัฒนาไปสู่จุดนั้น รวมถึงการพัฒนาท่าเรือจะต้องสอดคล้องกับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานทางถนน ทางราง ทางอากาศ (สนามบินอู่ตะเภา) ท่าเรือชายฝั่ง และแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ต้องพัฒนาไปพร้อมๆกัน เพื่อให้บริการที่รวดเร็วขึ้น

“พื้นที่หลังท่า ต้องสนับสนุนธุรกิจหลัก สินค้าจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รูปแบบการเก็บและขนส่งสินค้า ต้องสอดคล้องกัน ส่วนพื้นที่รอบท่าเรือคลองเตย ทิศทางพัฒนาต้องให้สอดคล้องกับการพัฒนาเมืองของกรุงเทพฯ มีการส่งเสริมเทคโนโลยี พัฒนาเป็นย่านอุตสาหกรรมไอที เป็นทั้งที่พักอาศัยและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือการดูแลผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ส่วนของพื้นที่ 4 แปลงท่าเรือกรุงเทพ ให้ส่งแผนพัฒนาใน 2 สัปดาห์จากนั้นจะมีการศึกษารายละเอียดระยะยาวต่อไป หลักการจะต้องไม่ให้กระทบต่อประชาชนที่อยู่เดิม ต้องพัฒนาและให้คนในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ด้วย”

สำหรับสินทรัพย์ของการท่าเรือฯ มีศักยภาพตอบสนองการพัฒนาได้ ซึ่งรูปแบบสามารถเปิดให้เอกชนร่วมทุน หรือใช้ไทยแลนด์อินฟราฟันด์ เนื่องจากผลตอบแทนน่าจะสูงสำหรับประชาชน

ด้าน ร.อ.สุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า เมื่อมีการพัฒนา EEC แล้ว อุตสาหกรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดผลกระทบต่อท่าเรือซึ่ง กทท.จะต้องมีการทบทวนแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้การพัฒนาท่าเรือและการพัฒนาพื้นที่รอบท่าเรือทั้งหมดสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศที่จะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น และสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์อย่างเต็มที่ โดยจะเสนอขออนุมัติบอร์ดการท่าเรือฯ ในเดือน มี.ค. ว่าจ้างที่ปรึกษากรอบวงเงินประมาณ 30-50 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงแผนแม่บทในภาพรวม, แผนพัฒนาที่สอดคล้องกับ EEC และแผนพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ โดยเมื่อเห็นภาพรวมแล้วจะสามารถจัดลำดับแบ่งเฟสโครงการที่จะพัฒนาให้เหมาะสมได้
กำลังโหลดความคิดเห็น