xs
xsm
sm
md
lg

ขสมก.อาการหนัก! แบกหนี้แสนล้าน อัยการเบรกรับมอบรถเมล์ NGV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ขสมก.เจอสารพัดปัญหารุม กางบัญชีพบแบกหนี้สะสมถึงแสนล้านบาท ล่าสุดคำตอบอัยการเบรกรับรถเมล์ NGV 489 คัน ระบุให้รอผลพิจารณาแหล่งกำเนิดยุติก่อน ด้าน “ผอ.ขสมก.” ยันยังไม่เห็นหนังสืออัยการ สั่งเบรกจริงพร้อมชงบอร์ด 31 ม.ค.หาทางออก วงในจับตาลักไก่รับล็อตหลัง 389 คัน หลังเบสท์รินฯ อ้างประกอบมาเลเซีย จี้ ขสมก.ตรวจเอกสารกรมศุลฯ มาเลเซีย

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จาการตรวจสอบข้อมูลผลการดำเนินงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พบว่าสถานะทางการเงินมีหนี้สะสมประมาณแสนล้านบาท มีสถานการณ์ทำกำไรน้อย มีผลขาดทุนอยู่ประมาณเกือบ 5,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ซึ่งน่าเห็นใจ ขสมก.เพราะต้องทำหน้าที่ให้สวัสดิการประชาชน ทำให้ราคาค่าโดยสารถูกกำหนดให้ต่ำกว่าต้นทุน ขณะที่การจัดหารถโดยสารใหม่มาวิ่งบริการเป็นเรื่องดีเพราะ รถที่มีคุณภาพดีจะทำให้การบริการดีขึ้น ซึ่งในสัปดาห์นี้จะไปตรวจเยี่ยม ขสมก.เพื่อรับทราบการทำงาน และมอบนโยบายการแก้ปัญหาองค์กรต่อไป

ทั้งนี้ เรื่องหนี้สะสม หากเป็นบริษัทเอกชนต้องแฮร์คัต แต่สำหรับ ขสมก.นั้นแนวทางแก้ปัญหาต้องพิจารณา ซึ่งการปฏิรูปจัดสรรเส้นทางเดินรถ ขสมก.ถือเป็นทางออกหนึ่งเพราะเส้นทางเดินรถเป็นที่มาของรายได้ หากจัดสรรได้ดีทำให้ประสิทธิภาพการหารายได้ดีขึ้น รายได้จะสูงขึ้น ต้นทุนจะต่ำลง ช่วยลดภาระขาดทุนลงได้

ปัจจุบัน ขสมก.อยู่ในกระบวนการแผนฟื้นฟูซึ่งมีแผนจะจัดหารถโดยสารใหม่เพื่อปรับปรุงบริการ ซึ่งได้ปรับปรุงแผนการจัดหารถโดยสารใหม่เหลือวงเงินแค่ 4,293 ล้านบาท โดยเดิมจะจัดหารถโดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท เป็น 1. จัดซื้อรถโดยสาร NGV จำนวน 489 คัน วงเงิน 1,735 ล้านบาท 2. จัดซื้อรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้า จำนวน 200 คัน และ 3. นำรถเก่าที่มีสภาพดีมาปรับปรุงสภาพจำนวน 672 คัน วงเงิน 733.83 ล้านบาท แบ่งเป็นรถธรรมดา (รถร้อน) 500 คัน วงเงินประมาณ 444.50 ล้านบาท และรถปรับอากาศ จำนวน 172 คัน วงเงินประมาณ 289.33 ล้านบาท 

***อัยการเบรกรับรถ NGV รอพิสูจน์แหล่งกำเนิด

รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีที่ ผอ.ขสมก.ทำหนังสือสอบถามอัยการสูงสุด เรื่องการตรวจรับรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน ซึ่ง อัยการได้ทำหนังสือแจ้งตอบกลับมายัง ขสมก.แล้วว่าให้ ขสมก.รอผลการพิจารณาจากกรมศุลกากรถึงแหล่งกำเนิดของรถเมล์ NGV ว่าผลิต และ/หรือประกอบในประเทศใดให้เป็นที่ยุติเสียก่อนแล้วจึงดำเนินการต่อไป 

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมให้ความเห็นว่า กรณีที่กรมศุลกากรระบุว่ามั่นใจหลักฐานกรณีนำเข้ารถ NGV มีความผิดพิธีการทางศุลกากร โดยจะเรียกเก็บภาษีพร้อมเบี้ยปรับสำหรับรถ 100 คันแรกที่สำแดงเอกสาร From D เท็จ ส่วนรถที่เหลือ กรณีสำแดงว่ารถมาจากมาเลเซีย โดยไม่ใช่ From D กรมศุลฯ จะเรียกเก็บภาษีเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ขสมก.จะรับรถหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามสัญญา ซึ่งประเด็นรถ 389 คัน ไม่ได้ประกอบในมาเลเซีย จะเป็นช่องว่างให้เกิดการลักไก่รับมอบรถหรือไม่ เนื่องจากการที่เบสท์รินฯ อ้างประกอบรถในมาเลเซียเพื่ออาศัยข้อตกลงทางการค้า AFTA ยกเว้นภาษีนำเข้า 40% แต่รถ 389 คันไม่ใช้ Form D จะพิสูจน์อย่างไรว่ารถประกอบในมาเลเซียจริง

ทั้งนี้ หากมีการประกอบรถในมาเลเซียจริง ต้องทำตามกฎหมายศุลกากรของมาเลเซีย ยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนและภาษีส่งออกรถสำเร็จรูป โดย ขสมก.ตรวจสอบได้ โดยให้เบสท์รินฯ ยื่นสำเนาเอกสารศุลกากรมาเลเซียเพื่อยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนและส่งออกรถสำเร็จรูปจากบริษัท R & A COMMERCIAL VEHICLES SDN BHD เพราะเป็นไปไม่ได้ที่มีการเสียภาษีที่มาเลเซียด้วย หากไม่มีเอกสารนี้จะพิสูจน์ไม่ได้ว่ารถประกอบในมาเลเซียจริง ขสมก.ก็รับรถ 389 คันไม่ได้เช่นกัน

ด้านนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ยังไม่ได้รับหนังสือจากอัยการ แต่เมื่อมีผู้สื่อข่าวสอบถามเข้ามาได้ตรวจเช็กเจ้าหน้าที่รับหนังสือยังไม่เห็นหนังสือจากอัยการ ซึ่งในวันจันทร์ 30 ม.ค.จะตรวจสอบอีกครั้ง ทั้งนี้ หากได้รับหนังสือจากอัยการจะต้องดูว่าอัยการมีความเห็นอย่างไร หากบอกว่าให้รอความชัดเจนแหล่งกำเนิดของรถก่อน ขสมก.ก็พร้อมดำเนินการ แต่คำถามคือ ให้รอนานแค่ไหน เพราะคงรอตลอดชีวิตไม่ได้ ดังนั้น หากอัยการชี้มาแบบนี้จะต้องนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ขสมก.ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ เพื่อพิจารณารายละเอียดว่า ขสมก.จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น