xs
xsm
sm
md
lg

CEO เอเปกเดินหน้าลงทุนต่อแม้หวั่นพิษเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย
ผู้จัดการรายวัน 360 - CEO กลุ่มประเทศเอเปกยังหวั่นเศรษฐกิจโลก ระบุปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจยังคงมีจำกัด รวมถึงการเกิดใหม่ของคู่แข่งยังมีอย่างต่อเนื่อง มั่นใจเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ เร่งขยายการลงทุนลดเสี่ยง เน้นจีน, สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

นายศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร และหุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษี และบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก เปิดเผยถึงผลสำรวจ APEC CEO Survey 2016 : Thriving in a slow-growth world ว่า ความเชื่อมั่นของ CEO เอเปกต่อการเติบโตของธุรกิจและรายได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับต่ำเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยในการสำรวจปีนี้พบว่ามี CEO เพียง 28% เท่านั้น (เท่ากับปีก่อน) ที่เชื่อมั่นว่ารายได้ของพวกเขาในอีก 12 เดือนข้างหน้าจะเติบโตเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจในปีนี้ระบุว่าความเชื่อมั่นของ CEO เอเปกในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วบางประเทศกลับปรับตัวดีขึ้น เช่น ฟิลิปปินส์ (ความเชื่อมั่นของการเติบโตของรายได้อยู่ที่ 65% ในปีนี้ จาก 51% ปีก่อน) และเวียดนาม (50% ในปีนี้ จาก 44% ในปีก่อน) เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น และการลงทุนจากต่างประเทศ

“ผลสำรวจในปีนี้ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจและดีมานด์ที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจยังคงมีจำกัด และการเกิดขึ้นของคู่แข่งหน้าใหม่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้แนวโน้มจะยังไม่สดใส แต่เราก็เชื่อว่าประเทศสมาชิกในกลุ่มเอเปกจะยังคงขยายตัวได้ท่ามกลางความไม่แน่นอนเหล่านี้ โดยผู้บริหารต้องพยายามหาจุดสมดุลในการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงในระยะสั้น แต่ต้องมีมุมมองต่อการลงทุนในระยะยาว” นายศิระกล่าว

เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก พบว่า CEO เกือบครึ่งมองว่าจีดีพีของจีนในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะเติบโตอยู่ที่ 5-6% ต่อปีโดยเฉลี่ย หรือต่ำกว่านี้ อย่างไรก็ดี CEO เอเปกยังคงต้องการเข้าไปขยายตลาด สร้างแบรนด์ รวมถึงเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทในประเทศจีนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ พบว่าจีนยังคงเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนกับไทยปี 2558 สูงถึง 6.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.3 ล้านล้านบาท รองลงมาคือญี่ปุ่น มีมูลค่า 5.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.8 ล้านล้านบาท และสหรัฐอเมริกา มีมูลค่า 3.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1.3 ล้านล้านบาท ตามลำดับ

“จีนยังคงเป็นประเทศผู้นำและเป็นตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้อย่างไม่ต้องสงสัย CEO ส่วนใหญ่ยังมองว่าจีนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการลงทุนของพวกเขา” นายศิระกล่าว

เดินหน้าลงทุนเพิ่ม
นายศิระกล่าวว่า แม้ว่าความไม่เชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้ในระยะสั้นยังคงมีอยู่ แต่ CEO เอเปกมากกว่าครึ่ง (53%) มีแผนจะขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยผู้บริหารมากกว่า 2 ใน 3 ที่ทำการสำรวจต้องการลงทุนเพิ่มในกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปกด้วยกัน ส่วนที่เหลือจะกระจายการลงทุนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยในผลสำรวจในปีนี้ระบุว่า สาธารณรัฐประชาชนจีน, สหรัฐอเมริกา, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย จะเป็นประเทศที่ดึงดูดเงินลงทุนจาก CEO เป็นส่วนใหญ่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า

ในส่วนของการเจรจาทางการค้าและข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ในภูมิภาคที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก CEO เอเปกมากกว่าครึ่ง (53%) มองว่าความคืบหน้าของการดำเนินไปสู่การค้าเสรียังคงมีความล่าช้าในปีที่ผ่านมา ขณะที่ 14% ของผู้บริหารที่ถูกสำรวจกลับมองว่าไม่มีความคืบหน้าเลย สาเหตุมาจากการคุ้มครองทางการค้าที่เพิ่มขึ้นของประเทศคู่ค้า ความต้องการในการบริโภคของตลาดหลักที่ลดลง อีกทั้งความล้มเหลวของข้อตกลงทางการค้าที่มีอยู่ปัจจุบันบางข้อตกลงยังคงเป็นปัจจัยกดดันภูมิภาค อย่างไรก็ดี ยังมีผู้บริหารในภูมิภาคอาเซียนบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามที่มีมุมมองที่เป็นบวกต่อการเปิดกว้างทางการค้าและมองว่าส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศของตน

“ในส่วนแนวโน้มของการค้าในภูมิภาคที่ยังคงมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐอเมริกา เรามองว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีความสัมพันธ์และมีความร่วมมือที่ดีต่อกันในหลากหลายด้านในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นดิจิตอลในการขับเคลื่อนเป็นหลัก” นายศิระกล่าว

ผลสำรวจยังพบว่าความไม่แน่นอนของต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและนโยบายยังคงเป็นความกังวลลำดับต้นๆ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของ CEO ในภูมิภาคนี้ โดย CEO เพียง 14% เท่านั้นที่มั่นใจว่าตนสามารถคาดการณ์ต้นทุนขององค์กรและภาระภาษีได้ดีกว่าปีก่อน ขณะที่ CEO ถึง 58% มองว่า สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ เช่น ความโปร่งใส ความชัดเจนของข้อกฎหมาย และการปราศจากคอร์รัปชันจะยิ่งเข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของตนใน 3-5 ปีข้างหน้า

อัปเกรดธุรกิจสู่ดิจิตอล
นายศิระกล่าวว่า CEO ในกลุ่มเอเปกต่างเห็นตรงกันว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยมโฉมและพัฒนาธุรกิจในหลากหลายด้าน โดยปัจจุบันองค์กรต่างๆ ได้มีการประยุกต์ใช้ดิจิตอลในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การบริหารต้นทุน การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลสินทรัพย์ และอื่นๆ โดยผลสำรวจระบุว่า 1 ใน 3 ของผู้บริหารคาดว่าการเชื่อมโยงอุปกรณ์ไร้สายต่างๆ เข้ากับธุรกิจจะทำให้เกิดแหล่งรายได้แห่งใหม่ของกิจการในอนาคต

“ในอนาคตบทบาทของดิจิตอลในการเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้กับองค์กรจะยิ่งเพิ่มขึ้น หากผู้บริหารเร่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ และตอบสนองความต้องการของตลาดได้ตรงจุดจะยิ่งสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและทำให้องค์กรแตกต่างไปจากคู่แข่ง” นายศิระกล่าว

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้าการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบเรียลไทม์ (Real-Time) หรือใกล้เคียงกับเรียลไทม์ในการขนส่ง (Logistics) และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บข้อมูลการขาย และการบันทึกค่าใช้จ่าย (Point of sale devices) จะยิ่งถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น

“เราจะเห็นบริษัทต่างๆ หันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนธุรกิจกันมากขึ้น เพื่อปรับปรุงคุณภาพการดำเนินงาน ขยายฐานลูกค้าและนำไปสู่แหล่งรายได้ใหม่ของบริษัทในอนาคต ซึ่งถือเป็นพัฒนาการที่ดีให้กับธุรกิจในภูมิภาค” นายศิระกล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง ผลสำรวจ APEC CEO Survey 2016 : Thriving in a slow-growth world ถูกใช้เผยแพร่ในการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC CEO Summit ประจำปี 2559 ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ระหว่างวันที่ 17-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของ CEO และผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำจำนวนกว่า 1.1 พันราย จากสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) จำนวน 21 ประเทศ



กำลังโหลดความคิดเห็น