xs
xsm
sm
md
lg

ค้าปลีกเหงื่อตก Q1 โต 2.6% ดัน “ดิวตี้ ฟรี ซิตี้” ปลุกเมืองชอปปิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย
ผู้จัดการรายวัน 360 - ค้าปลีกไทยเหงื่อตก ดัชนี้ไตรมาสแรกปี 59 โตแค่ 2.6% คาดทั้งปีคงโตแค่ 2.8% ปรับลดเป้าจากเดิมตั้งไว้ที่ 3% ขู่รัฐหากยังไม่ออกมาตรการกระตุ้น มูลค่าการลงทุนค้าปลีกอาจจะลดจากเดิมที่ 1.3 แสนล้านบาทในช่วง 3 ปี เผย 5 มาตรการยื่นรัฐไม่คืบ กระทุ้ง “ดิวตี้ ฟรี ซิตี้” อีก

นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปี 2559ที่ผ่านมา พบว่าตัวเลขดัชนีค้าปลีกในประเทศไทยเติบโตเพียงแค่ 2.6% เท่านั้น ซึ่งประเมินกันว่าทั้งปีนี้ดัชนีค้าปลีกอาจจะเติบโตแค่ 2.8% จากเดิมที่ปีที่แล้วคาดการณ์ว่าปีนี้จะเติบโต 3% ซึ่งเป็นการปรับลดเป้าลงและหากว่ารัฐบาลไม่ได้มีมาตรการอะไรออกมากระตุ้นการจับจ่ายที่ดีพอ อาจจะตกลงเหลือแค่ 2.6% ก็ได้

ทั้งนี้ดัชนีค้าปลีกของไทยมีการเติบโตถดถอยมาตลอดตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา โดยในช่วงปี 2545-2555 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 8% ต่อปี แต่ปี 2555-2557 การเติบโตติดลดลงเหลือ 3% ต่อปี และปี 2558 ยังติดลบต่อเนื่อง เพราะทิศทางการผลักดันเศรษฐกิจมุ่งไปยังการปรับโครงสร้างการส่งออกเป็นหลัก จึงทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศไม่เข้าเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจค้าปลีกยังคงเป็นธุรกิจที่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องซึ่งจากการเก็บข้อมูลของสมาคมฯ ในกลุ่มสมาชิกมากกว่า 40 ราย รวมเป็นมูลค่ามากกว่า 9 แสนกว่าล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมดที่มากกว่า 3.1 ล้านล้านบาท ยังมีเม็ดเงินลงทุนตั้งแต่ปี 2558-2560 รวมมากกว่า 130,200 ล้านบาท หรือเฉลี่ยลงทุนรวมปีละประมาณ 4.34 หมื่นล้านบาทซึ่งยังเป็นอัตราที่สูงมากและสูงมากกว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสที่มีมูลค่า 1.233 แสนล้านบาท หรือยังมากกว่าการประมูลคลื่น 4G 900 เมกกะเฮิร์ทซ์ ที่มีมูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท

“การลงทุนเหล่านี้ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 2.1 แสนคนต่อปี และการจ้างงานทางอ้อมอีกกว่า 1.5 แสนคน สมาคมฯ จึงเป็นห่วงว่าภาคค้าปลีกอาจจะไม่สามารถรักษาระดับการลงทุนสูงไว้เช่นนี้ได้อีก หากยอดการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงถดถอยมาตลอดกว่า 4 ปีเช่นนี้” นางสาวจริยา กล่าวในที่สุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้เข้าร่วมประชุมกับทางหน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงการคลัง และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นต้น เพื่อหารือถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการของสมาคมฯ ที่ได้เคยยื่นเรื่องเสนอไปแล้ว

ด้าน ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวเสริมว่า กรณีการเสนอให้มีการเปิด “ดิวตี้ ฟรี ซิตี้” (Duty Free City) น่าจะเป็นมาตรการที่ดีและให้ประโยชน์ในภาพรวมมากกว่า เพราะการกระตุ้นลดราคา “ไทยแลนด์ แบรนด์ เซลส์” (Thailand Brand Sales) เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น แต่การทำ “ดิวตี้ ฟรี ซิตี้” เป็นมาตรการระยาวได้ผลดีอย่างชัดเจนและจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายนักท่องเที่ยวได้อย่างดี

ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้นำเสนอ 5 มาตรการยื่นต่อภาครัฐไปก่อนหน้านี้ประกอบด้วย 1.ให้ภาครัฐผลักดันการท่องเที่ยวเชิงชอปปิ้งหรือ Shopping Tourism อย่างจริงจังมากขึ้น เช่น การเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษีอากรในเมืองให้มากขึ้น 2.รัฐต้องหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยมุ่งไปที่คนมีรายได้ปานกลางถึงสูง เช่น ชอปช่วยชาติ ไม่ควรจำกัดอยู่แค่ 1.5 หมื่นล้านบาท น่าจะทำให้เป็นระดับของการใช้จ่ายมากน้อยต่างกันไป

3.สมาคมฯ กังวลว่าในไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการจับจ่ายของผู้บริโภคโดยรวม สมาคมฯ จึงได้เสนอให้มีการจัดโครงการ “ไทยแลนด์ แบรนด์ เซลส์” โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการค้าปลีกจัดลดราคาสินค้าที่หมดฤดูกาลใน 10 เมืองท่องเที่ยวหลักๆคือ พัทยา ภูเก็ต สมุย หาดใหญ่ เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมาและกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลานาน 8 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้บริโภคคนไทย

ทั้งนี้ เนื่องจากกลุ่มไทยในระดับรายได้สูงถึงปานกลางออกเดินทางไปชอปปิงต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องด้วยอัตรา 9% ต่อปี (ตัวเลขจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) โดยปี 2558 คนไทยใช้จ่ายในต่างประเทศสูงถึง 170,032 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการจับจ่ายสินค้าแบรนด์เนมที่มีจำหน่ายในประเทศไทยสูงถึง 50,840 ล้านบาท ซึ่งหากทำให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถกลับมาซื้อในประเทศไทยได้เพียง 50% หรือ 25,000 ล้านบาทก็พอใจแล้ว

จากข้อมูลมูลค่านำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย 9 หมวดจาก 17 หมวด ตามนิยามของของกรมศุลกากร ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 มีมูลค่าสูงถึง 114,821 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาในมิติของภาษีนำเข้าพบว่า มูลค่าสินค้านำเข้าที่เสียภาษีนำเข้าตามพิกัดศุลกากร (Duty Paid) มีมูลค่า 41,307 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าได้รับการยกเว้นภาษีตาม พ.ร.บ.ศุลกากร (Duty Free) มีมูลค่าสูงถึง 73,513 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าสินค้านำเข้า Duty Paid ถึงร้อยละ 78 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความได้เปรียบจากกฎหมายด้วยการยกเว้นภาษีนำเข้าได้ทำลายโครงสร้างการค้าปลีกในเมืองอย่างรุนแรง เพราะมูลค่าสินค้าจำหน่ายในดิวตี้ฟรีเพียงไม่กี่แห่งมีมูลค่าสูงกว่าร้านค้าในเมืองหลายพันร้านค้าถึงเกือบเท่าตัว

4.พิจารณาใช้มาตรการภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นใน 2 กรณีคือ การคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ สถานที่จำหน่ายสินค้าทันที และการใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 สำหรับชาวต่างชาติ

5.ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม และธรรมชาติ การเป็นจุดหมายของการจับจ่ายสินค้าจึงยังไม่ใช่เหตุผลหลักที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเลือกเดินทางมาประเทศไทย สมาคมฯ จึงได้เสนอให้รัฐผลักดันนโยบาย “ดิวตี้ ฟรี ซิตี้” เพื่อให้ประเทศไทยเป็น “ชอปปิ้ง เดสติเนชัน” (Shopping Destination) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างแท้จริง



กำลังโหลดความคิดเห็น