xs
xsm
sm
md
lg

เอสซีจีชูเวียดนามเป็นฐานที่มั่นรองจากไทย 2 ปีจ่อขยาย รง.คราฟท์-เร่งซื้อโรงกล่องเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกานต์ ตระกูลฮุน (ที่ 2 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี นายพิษณุ จันทร์วิทัน (ที่ 3 จากซ้าย) เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม นาย ลี ธาน คุง (ที่ 4 จากซ้าย) รองประธานองค์การบริหารท้องถิ่นบิ่น เยือง นายคิโยชิ โอะซึโบะ (ที่ 5 จากซ้าย) ประธานกรรมการบริษัท เรนโก จำกัด และนายเชาวลิต เอกบุตร (ที่ 6 จากซ้าย) กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปเปอร์ ร่วมเปิดตัว “วีนา คราฟท์ เปเปอร์” โรงงานกระดาษที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในเวียดนาม
ด้วยนโยบายก้าวสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนของเครือซิเมนต์ไทย (SCG) วันนี้การขยายการลงทุนของ SCG ในภูมิภาคนี้มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง หลังจากเพาะบ่มความรู้ ประสบการณ์ในการทำตลาดของประเทศเพื่อนบ้านผ่านกลุ่มค้าสากลซิเมนต์ไทย (SCT) ที่ทำการค้าระหว่างประเทศ พร้อมกับดูลู่ทางโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ

โครงการผลิตกระดาษคราฟท์คุณภาพสูงขนาดกำลังการผลิต 2.2 แสนตัน/ปีที่ประเทศเวียดนาม ถือเป็นโครงการระดับต้นๆภายใต้นโยบายดังกล่าว ได้ทำพิธีเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่อบริษัท วีนา คราฟท์ เปเปอร์ จำกัด ที่จังหวัดบิ่นเยือง ประเทศเวียดนามในวันที่ 29 ม.ค.ที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน)กับบริษัท เรนโก จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนการถือหุ้น 70:30 งบลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท

นายเชาวลิต เอกบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปเปอร์ กล่าวว่าการเปิดโรงงานผลิตกระดาษคราฟท์แห่งนี้ เป็นช่วงจังหวะที่เหมาะสม เนื่องจากเวียดนามมีการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมากเหมือนกับเมืองไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทำให้มูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การใช้กระ ดาษคราฟท์เพื่อทำกล่องบรรจุภัณฑ์มีอัตราเติบโตสูงขึ้นถึงปีละ 10%หรือประมาณ 1แสนตันจากความต้องการใช้กระดาษคราฟท์ในเวียดนามในปีนี้ที่คาดว่าจะสูงถึง 1 ล้านตัน/ปี ขณะที่ความต้องการใช้กระดาษคราฟท์ในไทยสูงกว่าเท่าตัวอยู่ที่ 2 ล้านตัน/ปี แต่อัตราการขยายตัวแค่ 4-5%เท่านั้นและกำลังการผลิตกระดาษคราฟ์ในไทยก็ล้นตลาดอยู่

" หลังจากบริษัทส่งออกกระดาษเข้ามาจำหน่ายที่เวียดนามนานนับ 10ปีเห็นศักย ภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้กระดาษที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทตัดสินใจเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานกระดาษคราฟท์ที่นี่ ล่าสุดได้มีการซื้อโรงงานผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ที่เวียดนามด้วยซึ่งจะช่วยเสริมธุรกิจ โดยปริมาณกระดาษคราฟท์ที่ผลิตได้ประมาณ10%จะป้อนให้โรงงานผลิตกล่องดังกล่าว ที่โฮจิมินห์ นับเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของเอสซีจี เปเปอร์รองจากไทย และยิ่งเกิดAEC ยิ่งส่งผลดีต่อธุรกิจด้วย โดยกำลังการผลิตกระดาษคราฟท์ที่เวียดนามนี้ส่วนหนึ่งจะส่งออกไปขายที่กัมพูชาแทนการส่งออกจากโรงงานในไทยเพื่อลดต้นทุนด้านค่าขนส่ง ขณะเดียวกันก็นำเศษกระดาษจากกัมพูชาเข้ามาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานที่เวียดนามด้วย "

หากพิจารณาอัตราการเติบโตของความต้องการใช้กระดาษคราฟท์ในเวียดนามที่อัตรา 10%ต่อปี  ดึงดูดให้มีการขยายการลงทุนเพิ่มใน 2ปีข้างหน้า บริษัทฯคงต้องขยายกำลังการผลิตกระดาษคราฟท์เพิ่มเติม ซึ่งพื้นที่ตั้งโรงงานในนิคมฯที่บิ่นเยืองนี้ มีเพียงพอที่จะขยายกำลังการผลิตได้เพิ่มอีก 1โรง กำลังผลิต 2.2 แสนตัน/ปี

ขณะที่เงินลงทุนจะต่ำกว่าครั้งแรกเพราะได้มีการลงทุนด้านระบบสาธารณูปโภคและอาคารรองรับไว้แล้ว
ขณะเดียวกันเอสซีจี เปเปอร์ยังมองดูลู่ทางการต่อยอดธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย โดยอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อธุรกิจโรงงานผลิตกล่องบรรจุภ ภัณฑ์ที่เวียดนามเพิ่มเติม โดยโรงงานกล่องบรรจุภัณฑ์ต้องมีการกระจายไปหลายจุดเพื่อให้ใกล้กับลูกค้า แตกต่างจากโงงานผลิตกระดาษคราฟท์ที่เน้นขยายกำลังผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนมากกว่า
โดยสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ได้ส่งป้อนให้โรงงานผลิตกล่องที่ห่างไกลออกไป สอดคล้องกับนโยบายของเครือฯที่ต้องการก้าวสู่ความเป็นผู้นำในอาเซียน

สำหรับวัตถุดิบคือเศษกระดาษนั้นมีการใช้ภายในประเทศเพียง 30%ที่เหลือต้องนำเข้าเศษกระดาษจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันราคาเศษกระดาษได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก สืบเนื่องจากการจัดเก็บเศษกระดาษที่สหรัฐฯลดลงจากสภาพอากาศที่เลวร้ายในช่วงที่ผ่านมา กอรปกับจีนมีการสั่งซื้อมาก ทำให้ราคาเศษกระดาษปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 240-250เหรียญสหรัฐ/ตันจากปลายปีที่เศษกระดาษอยู่ที่ 180 เหรียญสหรัฐ/ตัน โดยราคาเศษกระดาษเคยพุ่งสูงสุดอยู่ที่ 270 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีนี้โรงงานวีนา คราฟท์ เปเปอร์จะเดินเครื่องจักรแค่ 85%ของกำลังการผลิต คาดว่าจะ สร้างรายได้ในเอสซีจี เปเปอร์ 2.5 พันล้านบาท ส่งผลให้รายได้ของเอสซีจี เปเปอร์ปีนี้ดีกว่าปีก่อนที่มีรายได้รวม 4.2 หมื่นล้านบาท

และปีหน้าโรงงานดังกล่าวคงเดินเครื่องผลิตได้เต็มที่ นับเป็นโรงงานผลิตกระดาษรายใหญ่ที่สุดในเวียดนามและมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในอาเซียนเพราะโรงงานนี้ใช้เทคโนโลยีจากยุโรปและญี่ปุ่น ใช้เงินลงทุนด้านเทคโนโลยีเกือบ 1.5 พันล้านบาท เพื่อควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำและอากาศ ติดตั้งPower Plant มูลค่ากว่า 1.1 พันล้านบาท รวมทั้งเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย 330 ล้านบาท
นายเชาวลิต กล่าวว่า การลงทุนในเวียดนามของเอสซีจี เปเปอร์จะเน้นกระดาษบรรจุภัณฑ์และโรงกล่องเท่านั้น เนื่องจากความต้องการใช้ขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนกระดาษพิมพ์เขียนพบว่ากำลังการผลิตของภูมิภาคนี้ ยังเกินความต้องการใช้อยู่มาก ดังนั้นจะอาศัยวิธีการส่งออกจากไทยไปแทนอีกทั้งราคากระดาษพิมพ์เขียนก็มีการปรับขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบได้ช้ากว่าด้วยเนื่องจากการแข่งขันรุนแรง ปัจจุบันราคากระดาษพิมพ์เขียนอยู่ที่ 900 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้นจากปลายปีเพียง 20-30 เหรียญสหรัฐ แต่ราคาวัตถุดิบกลับเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่า

โดยราคาเยื่อใยยาวอยู่ที่ 760 เหรียญสหรัฐ/ตัน แฃะเยื่อใยสั้นอยู่ที่ 680 เหรียญสหรัฐ/ตันเพิ่มขึ้นจากปลายปีอยู่ที่600 เหรียญสหรัฐ/ตัน นับว่าราคาเยื่อกระดาษใยสั้นใกล้จ่อใกล้ถึงจุดที่เคยพีคสูงสุดในช่วงน้ำมันแพงที่ 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากราคาเยื่อกระดาษที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นนี้ ทำให้ผู้ประกอบการในอเมริกาใต้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยมีการตั้งโรงงานใหม่มีกำลังผลิต 1-2 ล้านตัน ซึ่งจะช่วยลดความร้อนแรงราคาเยื่อกระดาษลงได้

ทั้งนี้เครือซิเมนต์ไทยมองว่าเวียดนามไม่ใช่ฐานการผลิตที่จะเป็นคู่แข่งของไทย แต่มองว่าเป็นประเทศที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของอาเซียน โดยมีความได้เปรียบด้านค่าแรงและเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าไทย มีประชากรสูงถึง 80 ล้านคน ดังนั้นเครือซิเมนต์ไทยจะยังมีการลงทุนในเวียดนามอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์นับว่าเวียดนามจะกลายเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่รองจากไทย ในช่วงจังหวะอึมครึมกับสถานการณ์มาบตาพุดในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น