xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดอิเล็กทรอนิกส์ของไทย : ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท(จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

- การแข็งค่าของเงินบาท ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และการอ่อนตัวของเงินดอลลาร์จากเศรษฐกิจสหรัฐ โดยเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2549โดยเป็นการแข็งค่าขึ้นกว่าร้อยละ 20 จากช่วงที่ค่าเงินอ่อนตัวที่สุด การแข็งค่าของเงินบาทอาจส่งผลให้การนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและส่งออกมีราคาถูก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้รายรับจากการส่งออกเมื่อแลกกลับเป็นเงินบาทลดลง และทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

ประเด็น การปรับลดภาษีและมาตรการทางการค้าอื่นๆ ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ โดยในด้านบวก คณะรัฐมนตรีได้มีประกาศลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับเหล็กกล้าที่มีคุณสมบัติทางไฟฟ้า (Silicon steel) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การงดเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบจะเป็นผลประโยชน์ต่อผู้ประกอบการทำให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าลดลง

ในส่วนของข้อตกลงทางการค้า ประเทศไทยได้ร่วมลงนามในข้อตกลง JTEPA (Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) หรือ FTA ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคมนี้ รายละเอียดของข้อตกลงซึ่งครอบคลุมไปถึงการปรับลดอัตราภาษีระหว่างกัน จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยในฐานะที่ไทยเป็นฐานการผลิตให้กับญี่ปุ่น โดยการลดอัตราภาษีระหว่างกันจะมีผลดีต่อการนำเข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบต่างๆ จากญี่ปุ่น

สรุปและข้อคิดเห็น
ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นตามปัจจัยด้านฤดูกาลของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีคาดว่าอัตราการขยายตัวของการผลิตและการส่งออกของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉลี่ยของทั้งปี 2550 จะต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยที่การส่งออกได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินบาท ทำให้ผู้ส่งออกมีรายรับลดลง สำหรับสินค้าในหมวดที่คาดว่าจะมีการเติบโตดี ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า (IC) และ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD) โดยสินค้าในสองหมวดนี้มีความต้องการการลงทุนเพิ่มเพื่อขยายการผลิตโดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า (IC)

โดยรวมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยมีแนวโน้มลดลง ปรากฏการณ์การปรับตัวลดลงของมูลค่าการลงทุนโดยตรงในไทยบ่งชี้ว่าอนาคตการผลิตและการส่งออกสินค้าในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ต่ำลงกว่าปัจจุบัน เนื่องจากไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านค่าจ้างแรงงานแก่ประเทศอื่น เช่น จีนและเวียดนาม ประเทศเวียดนามสามารถดึงดูดนักลงทุนเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมจากความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรมนุษย์

อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรม ได้แก่ การปรับลดอากรขาเข้าของวัตถุดิบในการผลิตสินค้าตามมติของค.ร.ม. การงดเก็บภาษีส่งออกและการใช้มาตรฐานสินค้าร่วมกันตามข้อตกลงไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) รวมถึงการที่ปัจจัยการผลิตนำเข้ามีราคาถูกลงจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทและการเมืองที่จะมีความชัดเจนมากขึ้นในปลายปีนี้ ทว่ามาตรการและสภาพแวดล้อมเหล่านี้จะมีผลให้อุตสาหกรรมได้เปรียบในระยะหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งอื่นๆก็เริ่มมีการทยอยทำข้อตกลงทางการค้าในรูปแบบเดียวกัน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าประเทศไทยควรเร่งปรับตัวโดยพยายามหันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม (value added) สูงขึ้น โดยอาจเป็นการเปลี่ยนจากการผลิตแบบ OEM (Original Equipment Manufacture ) เป็น OBM (Owned Brands Manufacture) และ ODM (Owned Design Manufacture) ด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนาซึ่งไทยอาจสามารถแสวงหาความร่วมมือในส่วนนี้ได้จากข้อตกลงทางการค้าและสถาบันต่างๆรวมถึงผู้ผลิตที่เป็นบริษัทแม่ โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุน ภาครัฐควรเพิ่มการสนับสนุนผู้ประกอบการภายในประเทศในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มการเชื่อมโยงการลงทุนกับการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยีในปัจจุบันนอกเหนือจากการยกเว้นภาษีในช่วง 1-2 ปีแรก
กำลังโหลดความคิดเห็น