xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย : มีโอกาสขยายตัวดี...ทั้งในและตปท.(จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์ตลาดต่างประเทศของผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ามีประเด็นที่น่าติดตามดังต่อไปนี้

-เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันไม่เฉพาะแต่ตลาดผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายภายในประเทศเท่านั้นที่มีแนวโน้มสดใส แต่ขณะเดียวกันตลาดต่างประเทศของสินค้าประเภทนี้ของไทยก็ส่อแววดีไม่น้อยเช่นกัน โดยจากรายงานของกรมศุลกากร พบว่า ในปี 2549 ไทยสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,373.8 ล้านบาท(เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 53.68) หรือคิดเป็นมูลค่า 36.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.3) และคาดว่าในปี 2550 ไทยจะสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายเป็นมูลค่าประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 40

-โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ตลาดอาเซียน เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพการส่งออกสูงพอสมควร และเป็นตลาดหลักของไทยมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2549 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายไปตลาดนี้คิดเป็นมูลค่า 507.7 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนถึงร้อยละ 37 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยโดยรวม

ทั้งนี้ในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย นั้น พบว่า ไทยสามารถครองความเป็นผู้นำตลาดอันดับหนึ่งในแต่ละตลาดดังกล่าวด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 40-50 ของแต่ละประเทศดังกล่าวข้างต้น

นอกจากนี้ตลาดอินเดีย ก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่คาดว่าจะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2550 เนื่องด้วยจำนวนประชากรของอินเดียที่มีมากถึงประมาณ 1,100 ล้านคน และคนรุ่นใหม่ในอินเดียก็หันมาใส่ใจต่อบุคลิกภาพกันมากขึ้นในการเข้าสังคม ประกอบกับความต้องการสินค้าประเภทนี้ของอินเดียจากตลาดต่างประเทศก็ขยายตัวสูงมาก โดยในช่วงปี 2546-2548 อินเดียมีการนำเข้าสินค้าประเภทนี้เพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 20 ต่อปีตามรายงานของ Global Trade Atlas ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 ไทยสามารถครองเป็นหนึ่งด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42.2

สำหรับญี่ปุ่น นั้นก็เป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในแถบเอเชียอีกแห่ง เนื่องจากประชากรญี่ปุ่นมีอำนาจในการซื้อสูง ทั้งนี้จากข้อมูลของ Global Trade Atlas พบว่า ในปี 2549 ตลาดญี่ปุ่นมีมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายทั้งสิ้น 7.0 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 โดยมีไทยเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60.5

-ศักยภาพในตลาดโลก เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพการแข่งขันของสินค้าประเภทนี้ของไทยในตลาดโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ระดับอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายของไทยโดยรวมในตลาดโลกเป็นไปค่อนข้างดี

โดยจากรายงานของ กรมศุลกากร และ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2547-2549 สินค้ากลุ่มนี้ของไทยมีอัตราการเติบโตเป็นเลขสองหลักมาโดยตลอด ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยโดยรวมในตลาดโลกที่แม้ว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก โดยในปี 2549 ไทยครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 13 ในตลาดโลก ด้วยสัดส่วนร้อยละ 1.8 แต่ก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ว่า ในปี 2550 ไทยน่าจะสามารถรักษาสถานภาพการแข่งขันไว้ได้ในระดับที่ดีตามความต้องการสินค้าประเภทนี้ในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะในตลาดในแถบเอเชียซึ่งเป็นตลาดหลักของไทย

-ศักยภาพของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งหากเปรียบเทียบในระดับเอเชียตามรายงานของ Global Trade Atlas พบว่าไทยเป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 1 (อันดับที่ 13 ในตลาดโลก) ขณะที่ประเทศในเอเชียที่เป็นที่สองรองจากไทยก็คือสิงคโปร์(อันดับ 20 ในตลาดโลก สัดส่วนร้อยละ 1.0) ตามมาด้วย ตุรกี(อันดับ 24 ในตลาดโลก สัดส่วนร้อยละ 0.95) ฟิลิปปินส์(อันดับ 26 ในตลาดโลก สัดส่วนร้อยละ 0.85) และจีน(อันดับ 28 ในตลาดโลก สัดส่วนร้อยละ 0.6) ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับ 43 ในตลาดโลก ด้วยสัดส่วนร้อยละ 0.05

-คู่แข่ง สำหรับคู่แข่งที่ผู้ประกอบการไทยควรจับตามองนั้นมีด้วยกันหลายประเทศ เพราะต่างมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกันกับไทยด้วยอัตราการเติบโตที่ใกล้เคียงกันอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ ที่พบว่าในปี 2549 การส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทนี้มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 88.9 และจีน ที่เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 ที่ต่างมีความได้เปรียบไทยในด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า

-กลยุทธ์การขยายตลาด น่าจะเป็นการเปิดเกมรุกทั้งในตลาดหลักเดิมอย่างอาเซียน และประเทศแถบเอเชีย พร้อมกับบุกเบิกตลาดใหม่ๆเพิ่มมากขึ้นควบคู่กันไปไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย หรือตลาดตะวันออกกลาง เพื่อกระจายความเสี่ยง ด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยอาศัยการวิจัยพัฒนาที่มีประสิทธิภาพเพื่อยกระดับสินค้าให้ก้าวสู่ระดับสากลเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ธรรมชาติหรือบรรดาสมุนไพรไทยภายในประเทศที่มีเป็นจำนวนมากให้เกิดประโยชน์สูงสุด และผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาไทยกับการผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความแม่นยำและแน่นอนในการผลิต เพื่อเป็นจุดแข็งในการแข่งขันในตลาดโลกในอนาคต เพราะนอกจากจะมีเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นแตกต่างแล้ว ยังเป็นสร้างโอกาสในการขยายตลาดด้วยสินค้าใหม่ๆ อันจะนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นในลักษณะที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นตามลำดับด้วย

แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยก็จำเป็นต้องศึกษาความต้องการของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกันอย่างละเอียดด้วย ทั้งในด้านคุณสมบัติที่ต้องการ รูปแบบสินค้า กลิ่นที่พึงประสงค์ และรูปแบบสีสันของบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในการผลิตสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น