xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.ค้าปลีกต้องฟังเสียงประชาชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในที่สุด ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ....ก็ได้ฤกษ์เดินทางเข้าสู่ขั้นการเตรียมการสุดท้ายก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี นับจากความพยายามในการจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้และเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2646 แต่ล้มคว่ำไปไม่เป็นท่ามาแล้วครั้งหนึ่ง บวกกับความพยายามในการเคลื่อนไหวแสดงความคิดเห็นของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็มีการศึกษาวิจัยของสถาบันการศึกษาชั้นนำ ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นของนักวิชาการหลากหลายสำนัก รวมไปถึงการเดินขบวนเรียกร้องกดดันรัฐบาล รัฐมนตรีไปตามเรื่องตามราวตามระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ มาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ก็นับได้ว่านี่เป็นอีก พ.ร.บ.หนึ่งที่สร้างความขัดแย้งให้กับสังคมไทย เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องส่งผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมจำนวนมาก เพราะเรื่องของค้าปลีกค้าส่ง เมื่อมองถึงที่สุดแล้ว การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของระบบค้าปลีกค้าส่งก็คือวิถีชีวิตของประชาชนทั่วไปนั่นเอง

เป็นที่แน่นอนว่า ทุก ๆ อย่างที่ว่ามานี้ ต้องแลกด้วยเงิน หรือถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักของตนเองและครอบครัวได้อย่างหนึ่งทีเดียว เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นทุกวัน ยังไม่นับถึงเรื่องการที่ต้องคอยเข้มงวดกับคุณภาพ สุขภาพ อนามัย และการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองและครอบครัว

แล้วอย่างนี้เหตุใดกระทรวงพาณิชย์ เจ้าของเรื่องร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงมีความคิดเห็นว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบตรง ๆ ในฐานะผู้บริโภค ไม่ควรได้รับรู้เนื้อหาสาระของกฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้ ทั้ง ๆ ที่อาจจะส่งผลถึงขั้นที่ทำให้เขาต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน เปลี่ยนการคำนวณค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนไปเลย รวมทั้งที่ผ่านมาก็มีบทเรียนของการผลีผลามออกกฎหมายจนส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองและสถานภาพของรัฐบาลมาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้นการปฎิเสธไม่ให้มีการทำประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ....แม้ว่าจะเป็นอำนาจที่ทางกระทรวงพาณิชย์สามารถทำได้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 หมวด 2 ข้อ 7 ที่บัญญัติไว้ว่า “เมื่อรัฐมนตรีสำหรับราชการส่วนกลาง......เห็นว่าการดำเนินงานตามโครงการของรัฐเรื่องใดซึ่งหน่วยงานของรัฐในสังกัดจัดให้มีขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย วิถีชีวิต........และอาจนำไปสู่ข้อโต้เถียงหลายฝ่าย สมควรรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย...เพื่อเป็นแนวทางการประกอบการตัดสินใจของรัฐ รัฐมนตรีอาจสั่งให้มีประชาพิจารณ์ตามระเบียบนี้ได้”

เรื่องของธุรกิจค้าปลีก มีผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในวงจรของระบบนี้หลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่ายหรือซัพพลายเออร์ ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ และร้านค้าขนาดเล็กหรือโชห่วย ตลอดจนผู้บริโภค ที่แม้จะอยู่ในห่วงโซ่ข้อสุดท้ายของวงจรนี้แต่มีความสำคัญที่สุด และรัฐควรมีหน้าที่ในการปกป้องดูแลอย่างถึงที่สุดเช่นเดียวกัน

ความกังวลของผู้บริโภคที่ไร้สิทธิไร้เสียงภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้คือ หากเนื้อหาของพ.ร.บ.ฉบับนี้ออกมาแบบไม่เป็นธรรม เอื้ออำนาจให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในห่วงโซ่ของธุรกิจค้าปลีกค้าส่งนี้เกินไป จะทำให้เกิดปรากฎการณ์การผูกขาดสินค้า สินค้ามีราคาแพง สินค้าขาดตลาด ฯลฯ สารพัดที่ผู้บริโภคเคยเผชิญมานานนับสิบ ๆ ปี เมื่อครั้งที่อำนาจตลาดอยู่ในมือของพ่อค้าคนกลาง พึ่งจะมาพ้นแอกอันหนักอึ้งเมื่อไม่ถึงสิบปีมานี้เอง

ดังนั้น ผู้บริโภคเขาเพียงแค่ต้องการอยากรู้ว่า เมื่อพ.ร.บ.นี้ผ่านออกมาบังคับใช้แล้ว พวกเขาซึ่งรวมถึงพวกเราทุกคนด้วยจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจ รับน้ำหนักแอกอันหนักอึ้งที่พ่อค้าคนกลางได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้เอามาวางไว้บนบ่าของเราอีกรอบหรือเปล่า ถ้ากระทรวงพาณิชย์ตอบไม่ได้ คงต้องหวังพึ่ง ครม. ซึ่งหากไม่อยากตอบอีกคงรอความหวังได้ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพียงอย่างเดียวแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น