xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางธุรกิจหนังสือปี2550 ชี้แย่งพื้นที่ระอุ-เน้นกิจกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กูรูธุรกิจหนังสือ ชี้ทิศทางธุรกิจหนังสือปีกุนนี้ ต้องเน้นกิจกรรมทางการตลาดมากขึ้น สงครามแย่งชิงพื้นที่การจัดวางในร้านหนังสือเริ่มเด่นชัด ด้านช่องทางการจัดจำหน่าย ปีนี้จะมีร้านหนังสือในรูปแบบคีออสสูง มองสำนักพิมพ์ขนาดกลางจะมีการเติบโตสูงสุด ระบบการจัดการต้องรัดกุม ช่องทางอินเตอร์เน็ตน่าสนใจต่อการประชาสัมพันธ์หนังสือในอนาคต

สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนาในหัวข้อ “ภาวะธุรกิจหนังสือปี 2549 และทิศทางธุรกิจหนังสือปี2550” โดยมีเนื้อหาสาระที่น่านำเสนอถึงแนวทางและแนวโน้มของธุรกิจในปี 2550 นี้ว่าเป็นอย่างไร จากบรรดาผู้รู้ในแวดวงสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย

นายธนะชัย สันติชัยกูล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจสำนักพิมพ์และหนังสือเล่มหรือพ็อกเก็ตบุ๊คในประเทศไทย ในปี 2549 ว่า มีอัตราการเติบโตประมาณ 10-12% หรือมียอดขายรวม 16,800 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่มียอดขายรวม 15,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% โดยหนังสือที่มีส่วนผลักดันการเติบโตก็คือหนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และหนังสือแนวธรรมะและการพัฒนาตัวเอง ตลอดจนหนังสือกลุ่มเยาวชนที่ยังคงมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ปี 2550 แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากเหตุการณ์ทางการเมือง ปัญหาความไม่สงบจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในกรุงเทพมหานคร และเหตุการณ์คลื่นใต้น้ำในจังหวัดต่างๆ แต่อัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมันเริ่มคงที่ ในขณะที่รัฐบาลให้ความสำคัญด้าน “คน” มากขึ้น เชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโต ไม่น้อยกว่า 10% หรือมียอดขายรวมทั้งระบบไม่น้อยกว่า 18,500 ล้านบาท ขณะที่สำนักพิมพ์ในปี 2549 มีอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.55 ส่วนร้านหนังสือ จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเช่นกันจำนวน 1,309 ร้าน

“ปี 2549 มีร้านหนังสือเครือข่ายจำนวน 763 ร้าน ขณะที่ร้านหนังสือแบบสแตนอโลน มีจำนวน 546 ร้าน ส่งผลให้สำนักพิมพ์ต้องพึ่งพิงร้านหนังสือเครือข่ายมากขึ้น ปัจจุบันช่องทางขายผ่านร้านจำหน่ายหนังสือยังเป็นช่องทางหลัก ช่องทางขายผ่านร้านสะดวกซื้อและการขายตรงผ่านอินเทอร์เน็ตมีแนวโน้มจะมีบทบาทมากขึ้น "

โดยเนื้อหาในการสัมมนาครั้งนี้ ได้ชี้ถึงสถานการณ์ธุรกิจหนังสือในปี 2550 ไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือ ภาพรวมธุรกิจหนังสือในปีนี้ มองว่าร้านหนังสือเปิดใหม่จะช่วยให้ตลาดหนังสือโตขึ้น เนื่องจากแนวโน้มในปีนี้ จะมีร้านหนังสือเปิดใหม่สูง แต่จะมีขนาดเล็กลง หรืออาจจะเป็นในรูปแบบคีออสมากยิ่งขึ้น บนทำเลที่สะดวกต่อผู้อ่านที่จะสามารถซื้อได้

ขณะเดียวกันจะเห็นการแข่งขันของสำนักพิมพ์ต่างๆ ในการแย่งพื้นที่การจัดวางหนังสือในร้านรีเทลมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้ผล สามารถผลักดันยอดขายให้เพิ่มสูงขึ้น และเริ่มมีการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งการได้พื้นที่การจัดวางนั้น จะช่วยให้ผู้อ่านสะดุดตา และส่งผลให้มีการซื้อหนังสือเล่มนั้นไป

นางสาวระริน อุทกพันธ์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจสำนักพิมพ์ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การแย่งชิงพื้นที่การจัดวางหนังสือในร้านรีเทลนั้น ปีนี้จะแข่งขันกันรุนแรง เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดแบบต้นๆ ที่จะทำให้ผู้อ่านตัดสินใจซื้อ แต่ขณะเดียวกันทางบริษัทฯมองว่า การที่จะออกหนังสืออกมาแต่ละเล่ม เบื้องต้นหนังสือเล่มนั้นๆจะต้องสามารถประชาสัมพันธ์ตัวเองให้ได้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นรูปเล่มที่สะดุดตา โปรยเนื้อหาเกริ่นนำที่ชวนให้เปิดอ่านเนื้อหาด้านใน

ด้านนางสาวลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท บลิส พับลิชชิ่ง จำกัด กล่าวเสริมว่า ช่องทางการจัดจำหน่ายในปัจจุบันนั้น ถือว่าไม่เป็นอุปสรรคต่อการจำหน่ายหนังสืออีกต่อไป เพราะผู้อ่านสามารถซื้อหาได้สะดวกขึ้น แต่อุปสรรคของการจำหน่ายหนังสือ คือ เรื่องของการแข่งขันภายในร้านรีเทลมากกว่า เพราะกว่าที่ผู้อ่านจะทราบว่ามีหนังสือออกใหม่ 1 เล่มนั้น ต้องผ่านกลุ่มหนังสือที่น่าสนใจหลายหมวดหมู่ก่อน อาทิ หนังสือขายดีประจำเดือน หรือหนังสือน่าอ่าน กว่าจะมาเจอหนังสือที่เราออกมาใหม่นั้น ผู้อ่านอาจจะตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มอื่นไปก่อนแล้ว ดังนั้นจึงมองว่าสำนักพิมพ์ต่างๆจะต้องหากลยุทธ์ที่จะฝ่าอุปสรรคเหล่านี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับรู้ว่ามีหนังสือวางจำหน่ายใหม่ที่น่าสนใจอีก 1 เล่มนั้นเอง

ขณะเดียวกันในเรื่องการจัดการนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้สำนักพิมพ์อยู่รอดได้ โดยในการสัมมนาครั้งนี้ มองว่า สำนักพิมพ์ระดับกลางจะมีอัตราการเติบโตมากที่สุด เพราะมีขนาดของโมเดลธุรกิจที่สามารถวางระบบการจัดการได้ดีที่สุด ดังนั้นสำนักพิมพ์ขนาดเล็กปีนี้จะมีความเสี่ยงมาก ยิ่งไม่มีชื่อเสียงที่จะทำให้ผู้อ่านรู้จัก อาจจะต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น ต้องมีการวางหนังสือออกมาอย่างสม่ำเสมอ ส่วนสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ก็ต้องมีความระมัดระวังในการเปิดตัวหนังสือใหม่เช่นเดียวกัน

สำหรับความเห็นของนางสาวระริน มองว่า “การจะเปิดตัวหนังสือแต่ละเล่มนั้น ขึ้นอยู่กับอารมณ์ และความสนใจของผู้อ่านเป็นหลัก ขณะเดียวกันต้องดูความชำนาญของเราเองว่า ถนัดที่จะทำหนังสือประเภทใด และควรมองหาช่องทางจำหน่ายใหม่ๆที่แตกต่างออกไป ในขณะที่ช่องทางจำหน่ายปัจจุบันมีการแข่งขันสูงขึ้น เช่น ช่องทางอินเตอร์เน็ต ก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจในการที่จะช่วยประชาสัมพันธ์การเปิดตัวหนังสือเล่มใหม่ได้เป็นอย่างดี และยังทำให้สามารถแข่งขันได้ในปีนี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น