xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นบึ้มทำถ่ายหนังพัง ฮอลลีวู้ดหนีตลาดไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงวัฒนธรรมยอมถอย ไฟเขียวให้กระทรวงการท่องเที่ยวดันศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสเข้าครม.ได้ในสัปดาห์หน้า อ้างกลัวประเทศไทยเสียโอกาสทางการแข่งขัน หลังดึงเรื่องยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 1 ปี ขณะที่ สพท.หวั่นเหตุระเบิดกรุงเทพทำธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ปีนี้ทรุด หนังใหญ่-ดาราดัง ผวาไม่กล้าเข้ามาถ่ายทำเหตุต้นทุนค่ากรมธรรม์จะสูงเพราะเป็นพื้นที่เสี่ยง  วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็ว

ร.ท.สุวิทย์  ยอดมณี  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะนำเรื่องการจัดตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส หรือศูนย์บริการออกใบอนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์แบบครบวงจรเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อขอความเห็นชอบในหลักการ ทั้งนี้เพราะกระทรวงการท่องเที่ยวฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศต่อปีได้เป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดในปี 2549 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีรายได้จากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเป็นเงินรวม  1,927 ล้านบาท เติบโตจากปี 2548 กว่า 70% โดยมีจำนวนภาพยนตร์ที่เข้ามาถ่ายทำทั้งสิ้น 491 เรื่อง

หวั่นผู้สร้างหนังผวาระเบิดทำยอดปีนี้ทรุด
ทางด้านนางธนิฏฐา มณีโชติ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว(สพท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในปี 2550 สพท. ตั้งเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ไว้เพียง 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก เนื่องจากต้องรอดูสถานการณ์ในหลายๆปัจจัย ทั้งเรื่องความชัดเจนจากนโยบายของรัฐบาลในการให้อินเซนทีฟแก่คณะผู้ถ่ายทำภาพยนตร์  นอกจากนั้นยังเรื่องของสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศที่เกิดจากเหตุลอบวางระเบิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครในขณะนี้ โดยหากสถานการณ์ยืดเยื้อ หรือบานปลายอาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้เพราะภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จะต้องมีการทำประกันภัยให้แก่คณะกองถ่ายทำ และในส่วนของนักแสดงที่มีชื่อเสียงก็จะต้องทำประกันภัยส่วนตัวเช่นกัน ซึ่งหากเดินทางไม่ถ่ายทำในประเทศหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงอัตราค่ากรมธรรม์ก็จะแพงขึ้นตามลำดับความเสี่ยง ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานต้องสูงขึ้น ซึ่งจากสาเหตุนี้อาจทำให้เขาเปลี่ยนใจไปใช้โลเกชั่นของประเทศอื่นแทนได้

อย่างไรก็ตามถึงวันนี้ยังไม่มีรายงานการยกเลิกกำหนดการที่จะเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ “แรมโบ้ 4” ที่ขออนุญาตไว้ตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งมีดาราแสดงนำคือ ซิลเวสเตอร์ สตาร์โลน โดยจะเข้ามาถ่ายทำตั้งแต่วันที่  25 ม.ค.50 ด้วยทุนสร้างกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2550 มีผู้มายื่นขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์แล้วประมาณ 3 เรื่อง ด้วยทุนสร้างเรื่องละกว่า 50 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมภาพยนตร์โฆษณาและมิวสิควิดีโอ หรือภาพยนตร์เรื่องสั้นอื่นๆ

กระทรวงวัฒนธรรมยอมถอย
นางธนิฏฐา กล่าวอีกว่า ในส่วนของศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส ที่จะเข้าครม.ในสัปดาห์หน้านั้น หาก ครม.เห็นชอบ ก็จะรีบดำเนินการประสานไปยังกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาทำงานร่วมกัน อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรฯ กรมศาสนา เป็นต้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะต้องส่งเจ้าหน้าที่มานั่งประจำศูนย์ฯเพื่อให้บริการด้วย โดยคาดว่าจะใช้เวลาเตรียมการทั้งหมดพร้อมเปิดดำเนินการภายใน 1-2 เดือน นับจากวันที่ ครม.เห็นชอบ ซึ่งขณะนี้ในส่วนของที่ตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส ได้สร้างเสร็จแล้วตั้งแต่ต้นปี 2549 แต่ที่ยังเปิดดำเนินการไม่ได้ก็เพราะยังไม่ผ่าน ครม.นั่นเอง  ส่วนการให้บริการเฉพาะในส่วนของภาพยนตร์เรื่องสั้น หนังโฆษณา และมิวสิควิดิโอ  หลังเปิดศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส จะสามารถออกใบอนุญาตได้ภายใน 24 ชั่วโมง จากปัจจุบันที่ต้องใช้เวลา 2-3 วัน ส่วนภาพยนตร์เรื่องยาว ฟอร์มยักษ์ ยังคงต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์เหมือนเดิม เพราะต้องอาจบทภาพยนตร์อย่างละเอียด

“ล่าสุดในการประชุมครม.เมื่อวันที่ 3 มกราคม ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมเขาเห็นด้วยแล้วกับการจัดตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส ภายใต้การดูแลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพราะเห็นว่าหากรอให้การจัดทำพรบ.ด้านกิจการภาพยนตร์แล้วเสร็จคงต้องใช้เวลาอีกเป็นปี จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางธุรกิจนี้ไปได้”

นอกจากนั้นล่าสุดทางกระทรวงการคลังได้รับเรื่องไปพิจารณาแล้วเกี่ยวกับการให้อินเซนทีฟแก่กองถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ เบื้องต้นน่าจะพิจารณาในเรื่องของการขอคืนหรือลดภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ได้

ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ผ่านมาความล่าช้าของการจัดตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากขาดความร่วมมือจากหลายๆกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอำนาจของกระทรวงการท่องเที่ยวไม่สามารถสั่งการให้เจ้าหน้าที่จากกระทรวงใดมานั่งประจำการให้บริการภายในศูนย์ดังกล่าวได้  จึงต้องรอขอมติจากครม. แต่ก็ไม่ได้ถูกนำเรื่องเข้าครม.เสียที่ จนเวลาผ่านมานานกว่า 1 ปี อีกประเด็นหนึ่งคือการอ้างของกระทรวงวัฒนธรรมถึงพรบ.ด้านกิจการภาพยนตร์ฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้ ที่ตามอำนาจแล้วกิจการด้านภาพยนตร์จะต้องย้ายไปอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม  ดังนั้นหากมีการตั้งศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส จะทำให้ต้องเสียเวลาหลายครั้งในการโยกย้าย  

ในส่วนของภาคเอกชนมองว่าความยืดเยื้อตรงนี้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ และได้พยายามผลักดันมาโดยตลอด แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่คู่แข่งที่กำลังมาแรงอย่างประเทศเวียดนาม ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทสอย่างจริงจัง ล่าสุดมีรายงานแจ้งว่า รัฐบาลเวียดนามได้จัดจ้างผู้ชำนาญการในอุตสาหกรรมถ่ายทำภาพยนตร์จากประเทศออสเตรเลียมาเป็นที่ปรึกษาและจัดทำโครงสร้างของธุรกิจนี้ให้แก่เวียดนาม ดังนั้นประเทศไทยและรัฐบาลไทยจึงไม่ควรมองข้าม เพราะมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากธุรกิจถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ คือ ธุรกิจ พีโปรดักชั่น และ โพสต์โปรดักชั่น ที่สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศอีกเป็นจำนวนมหาศาลอีกปีละไม่ต่ำกว่า 5-6 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น