xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อดีมานด์ท่องเที่ยวเอเชียยังแกร่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/ไฟแนนเชียล ไทมส์ – นักวิเคราะห์เผยแม้นักท่องเที่ยวเอเชียกำลังเผชิญกับค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินที่แพงขึ้น หลังจากราคาน้ำมันแตะระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทว่าผลกระทบต่อดีมานด์การเดินทางอาจมีเพียงจำกัด เนื่องจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสายการบินต้นทุนต่ำ

นักวิเคราะห์ด้านการบินและการท่องเที่ยวเผยว่า เป็นที่คาดกันว่าผลกำไรของบรรดาสายการบินจะถูกบั่นทอนลงอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ 17-40% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด

แอนดรูว์ เฮิร์ดแมน เลขาธิการสมาคมสายการบินเอเชีย-แปซิฟิก ระบุว่า “สิ่งที่กังวลกันทั่วไปคือผลกระทบของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อเศรษฐกิจโลก หากราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นนี้และเริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างแล้ว ก็จะส่งผลกระทบต่อดีมานด์การท่องเที่ยวด้วย”

อย่างไรก็ตาม เขาเสริมว่า “ในขณะนี้ดูเหมือนว่าราคาน้ำมันยังไม่ทำลายดีมานด์การท่องเที่ยว ซึ่งยังคงแข็งแกร่งอยู่”

หลังจากราคาน้ำมันทะยานเกือบแตะ 61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สายการบินบางแห่งได้ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงครั้งใหม่และทำให้ค่าตั๋วโดยสารแพงขึ้น ขณะที่บางสายการบินยังคงรอดูสถานการณ์และบอกว่าอาจแบกรับต้นทุนนี้เอง

ทั้งนี้โฆษกของการูดา อินโดนีเซีย ซึ่งมีค่าเชื้อเพลิงคิดเป็น 30% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด กล่าวว่า ทางสายการบินได้ปรับค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงสำหรับเส้นทางออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน และตะวันออกกลางเพิ่ม 10-15 ดอลลาร์

ด้านการบินไทยได้เพิ่มค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม แต่ยังคงค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงสำหรับสายการบินระหว่างประเทศอยู่ที่ 15 และ 25 ดอลลาร์ต่อตั๋วโดยสาร

ขณะเดียวกัน บางกอก แอร์เวย์สจะเริ่มใช้ค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงใหม่สำหรับเที่ยวบินทั้งภายในและระหว่างประเทศในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้

ส่วนสิงคโปร์ แอร์ไลนส์ และมาเลเซียน แอร์ไลนส์บอกว่าจะจับตาการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน ขณะที่ฟิลิปปินส์ แอร์ไลนส์ระบุว่ากำลังพิจารณาปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงเป็นครั้งที่ 2 และเวียดนาม แอร์ไลนส์กล่าวว่าได้ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมแล้ว

ทางฝ่ายเจแปน แอร์ไลนส์ สายการบินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และออล นิปปอน แอร์เวย์ส บอกว่ายังไม่แผนการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมเชื้อเพลิงในอนาคตอันใกล้นี้ เช่นเดียวกับแควนตัส และแอร์ นิวซีแลนด์ซึ่งระบุว่ายังไม่มีแผนการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าวในตอนนี้

ด้านสายการบินของจีนบอกว่าการแข่งขันเข้าสู่ภาวะดุเดือด ดังนั้นจึงไม่มีการผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มไปยังผู้บริโภคอย่างแน่นอน ขณะที่สายการบินแดนภารตะยังคงถ่วงเวลาการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมใหม่ออกไป

ทั้งนี้ ดอน เบิร์ช ประธานบริหารของอะบาคัส อินเตอร์เนชันแนล ระบุว่าการแข่งขันจากบรรดาสายการบินต้นทุนต่ำช่วยฉุดให้ค่าโดยสารโดยรวมต่ำลง และผลกระทบของราคาน้ำมันแพงอาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ

รวมกันเราอยู่

นอกจากนี้ โทนี เฟอร์นันเดส ประธานบริหารแอร์ เอเชีย สายการบินต้นทุนต่ำที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในภูมิภาคคาดการณ์ว่า จะมีการควบรวมกิจการในภาคอุตสาหกรรมสายการบินต้นทุนต่ำมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันแพงและอัตราค่าเช่าเครื่องบินที่สูงขึ้นสร้างแรงกดดันให้กับสายการบินที่จะเข้ามาใหม่

เขากล่าวต่อว่า การร่วมทุนสายการบินต้นทุนต่ำเกิดขึ้นโดย “คนที่แสวงหาสิ่งที่เขาคิดว่าเป็นเงินต้นทุนต่ำ” แต่ตอนนี้พวกเขาเผชิญกับสภาวะการปฏิบัติการที่ยากลำบากมากขึ้น

คำกล่าวของเฟอร์นันเดสครั้งนี้เกิดขึ้นไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่วาลูแอร์ และเจ็ตสตาร์ เอเชีย 2 สายการบินโลว์คอสต์แดนลอดช่องประกาศว่ากำลังเจรจาเรื่องการควบรวมและการเป็นพันธมิตรกัน

ทั้งนี้การเจรจาดังกล่าวถือเป็นสัญญาณว่าอุตสาหกรรมสายการบินต้นทุนต่ำอาจมีผู้เล่นเลิกกิจการไปหลังจากช่วงการเติบโตอย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น