xs
xsm
sm
md
lg

บาทอ่อนน้ำมันพุ่งฉุดหุ้น ชี้ส่งออกรับผลดี/โบรกพร้อมคุมมาร์จิ้นสกัดหุ้นร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาวะการลงทุนวานนี้(20 มิ.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ 679.68 จุด ลดลง 6.84 จุด หรือ 1% มูลค่าการซื้อขาย 10,926.67 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิ 1,208.23 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 369.93 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 838.30 ล้านบาท
นายวรุตม์ ศิวะศิริยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยว่า ดัชนีปรับตัวลดลงเนื่องจาก ราคาน้ำมันดิบตลาดล่วงหน้าไนเม็ก ส่งมอบเดือน ก.ค. มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุ 59 เหรียญต่อบาร์เรล การที่ ปตท.จะมีการปรับขึ้นราคาน้ำมัน และการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการตรวจสอบหุ้น รวมถึงค่าเงินบาทได้มีการอ่อนค่าที่ 41.13 บาท
แนวโน้มการลงทุนวันนี้ คาดว่าดัชนีจะปรับตัวลดลงในกรอบแคบ ๆ และอาจรีบาวนด์ได้ เนื่องจากนักลงทุนจะเข้ามาทยอยซื้อหุ้นที่ราคาลดลง โดยมองแนวรับที่ระดับ 675-676 จุด แนวต้านที่ระดับ 683-688 จุด ส่วนกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ หากเป็นนักลงทุนระยะยาวถือว่าเป็นช่วงที่จะทยอยสะสมหุ้น เนื่องจากผลตอบแทนจากเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)อยู่ในอัตราที่สูงประมาณ 4% ค่าพีอีเรโช (P/E) ตลาดหุ้นอยู่ที่ราว 8 เท่า และในช่วงครึ่งปีหลังภาวะตลาดน่าจะดีขึ้น

**บาทอ่อนมีทั้งดีและเสีย
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า สำหรับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงนั้น ถือว่าเหมาะสมในด้านการลงทุน มีผลดีต่อการส่งออกของประเทศ แต่จะมีผลกระทบด้านการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งค่าเงินบาทอ่อนจะเป็นแรงกดดันราคาน้ำมันขายปลีก แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะเข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าวได้ดี
ทั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้นักลงทุนต่างประเทศก็ยังคงซื้อสุทธิอยู่ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังแข็งแรง มีศักยภาพในการเติบโต
“ค่าเงินที่อ่อนนั้น ไม่ใช่เฉพาะเงินบาทเท่านั้น แต่เป็นการอ่อนค่าทั่วโลก ซึ่งค่าเงินบาทขณะนี้ก็ถือว่าไม่ได้อ่อนมากนัก"
ส่วนการที่ ก.ล.ต. จะให้รางวัลผู้ให้เบาะแสการปั่นหุ้น 30% ของค่าปรับนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะช่วยให้หน่วยงานที่ดูแลทำงานได้รวดเร็วขึ้นและเป็นการตอบแทนผู้ที่ให้ความร่วมมือกับทางราชการ ส่วนที่มีการเสนอให้บริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) เข้าร่วมตรวจสอบพฤติกรรมการสร้างราคาในตลาดหุ้นนั้นขณะนี้ ตลท.ยังไม่มีแผน และสามารถดูแลได้ทันเหตุการณ์ ถึงแม้โบรกเกอร์จะมีความใกล้ชิดนักลงทุนมากกว่า ตลท.
สำหรับบางหลักทรัพย์(หุ้น)ที่มีข่าวการสร้างราคา หรือ ราคาเคลื่อนไหวผันผวน บางครั้งผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็น แต่เป็นการกระทำของนักลงทุนบางราย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในทุกตลาดทั่วโลก และมีหลายครั้งที่การสร้างราคาของนักลงทุนบางรายไม่ประสบความสำเร็จ
ขณะที่พฤติกรรมการสร้างราคาในตลาดหุ้นไทยนั้นอาจะมีผลกระทบต่อจิตวิทยาการลงทุนบ้างเล็กน้อย แต่ในภาพรวมมองว่านักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ยังดูแลตัวเองได้ดีด้วยการลงทุนในหุ้นพื้นฐาน โดยเฉพาะกลุ่มที่ลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนนั้นก็น่าจะเป็นกลุ่มที่ดูแลตัวเองได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ก็แสดงท่าทีที่จริงจังในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ขณะที่ ตลท. ก็พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ นักลงทุนจึงไม่ต้องกังวล
นายวิเชฐ ตันติวานิช ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็มเอไอ (mai) กล่าวว่า ถ้าจะมีการเสนอรางวัลนำจับ 30 % ของค่าปรับให้ผู้ให้ข้อมูลการปั่นหุ้น ถือว่าเป็นวิธีการจูงใจที่ดีวิธีการหนึ่ง แต่ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวคงไม่ใช่วิธีการเด็ดขาดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการปั่นหุ้นในอนาคตได้

**ดอลลาร์แข็งกดบาทอ่อน
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL กล่าวว่า ภาวะ
อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนอยู่ในปัจจุบันนี้ ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องควรจะทำประกันความเสี่ยง และติดตาม
สถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ โดยเฉพาะเงินตราต่าง
ประเทศที่ถือว่าเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่มีการเปลี่ยนมือมาก
นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนยังขึ้นอยู่กับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายอัตราดอกเบี้ย
ของแต่ละประเทศ เช่น ประเทศไทยที่มีปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลต้องอาศัยเงินออมจากต่างประเทศมาชดเชย
"ในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนไม่มีอะไรดีไปกว่าการป้องกันความเสี่ยง และติดตามสถานการณ์การเปลี่ยน
แปลงอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นปัจจัยที่เราคาดการณ์ไม่ได้และมีผู้ที่เกี่ยวข้องหลายส่วน' นายโฆสิต กล่าว
ด้านนักค้าเงินของธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักในวันที่ 20 มิถุนายน(วานนี้) เปิดตลาดที่ระดับ 41.05 - 41.08 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 41.10 - 41.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งระหว่างวันไม่ได้มีความผันผวน โดยสูงสุดระหว่างวันตามราคาปิด คือ 41.13 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และต่ำสุดอยู่ที่ระดับ 41.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายนที่จะถึงนี้มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพราะตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯในไตรมาสแรกยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ 1.95 แสนล้านบาท นอกจากนี้ภาวะเศรษฐกิจของไทยโดยรวมไม่ได้สนับสนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าต่อเนื่องอีก เนื่องจากความต้องการดอลลาร์ยังมีอยู่สูง

**EWCติดอันดับ1หุ้นร้อน
ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยรายชื่อหุ้นที่มีการซื้อขายหมุนเวียน (Turnover list) สูงสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาประจำวันที่ 16 มิ.ย. 48 อันดับ 1 หุ้น EWC ซื้อขายหมุนเวียน 305.9% ขณะที่พีอีเรโชอยู่ที่ 11.37 เท่า อันดับ 2 หุ้น APURE ซื้อขายหมุนเวียน 233.86% พีอีเรโช 282.54 เท่า อันดับ 3 หุ้น MPT ซื้อขายหมุนเวียน 195.25% ผลดำเนินงานขาดทุน อันดับ 4 หุ้น BNT ซื้อขายหมุนเวียน 181.15% ผลดำเนินงานขาดทุน อันดับ 5 หุ้น EMC ซื้อขายหมุนเวียน 128.08 % พีอีเรโช 10.14 เท่า
ขณะที่ราคาหุ้น EWC วานนี้(20มิ.ย.) ปิดที่ 20.90 บาท ลดลง 2.10 บาท หรือ 9.13% มูลค่าการซื้อขาย 199.34 ล้านบาท

**โบรกฯคุมมาร์จิ้นสกัดหุ้นร้อน
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง นโยบายการพิจารณาเลือกหุ้นที่ไม่ให้ใช้สินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ หรือ บัญชีมาร์จิ้น จะพิจารณาตามคำสั่งของ ตลท.เป็นหลัก นอกจากนี้บริษัทจะประเมินความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่เป็นลูกค้าที่จะเข้าลงทุนในหุ้นบริษัทที่มีสภาพคล่องน้อย หรือ หุ้นที่มีสภาพคล่องแต่ราคาผันผวนสูงเช่นกัน โดยกำหนดสัดส่วนการให้สินเชื่อเป็นรายบริษัทไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่ ตลท.อยู่ระหว่างการตรวจสอบความผิดปกติของราคาและปริมาณการซื้อขาย
นายสาธิต วรรณศิลปิน ผู้จัดการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปกติการกำหนดวงเงินในการให้สินเชื่อเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ของบล.พัฒนสิน จะมีการประชุมของทีมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าวทุก 3 เดือน ซึ่งที่ผ่านมามีบริษัทที่อนุญาตให้สามารถซื้อขายลักษณะสินเชื่อได้ประมาณ 200 กว่าบริษัท และมีกว่า 100 บริษัทที่ไม่อนุญาตให้ซื้อขายโดยสินเชื่อได้ เช่น หุ้นในหมวดรีแฮบโก และใบสำคัญแสดงสิทธิต่าง ๆ ทั้งนี้ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงระหว่าง 3 เดือนได้ หาก ตลท.มีการสั่งขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขาย หรือ SP
สำหรับวงเงินที่บริษัทหลักทรัพย์แต่ละแห่งจะอนุญาตให้ซื้อขายในลักษณะให้สินเชื่อจะอยู่ในช่วง 50% 35% หรือ 15% ของมูลค่าการซื้อขายขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของหุ้นบริษัทนั้นๆ
นายช่วงชัย นะวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล. โกลเบล็ก จำกัด กล่าวว่า การสั่งห้ามลูกค้าซื้อขายบัญชีมาร์จิ้น
จะอิงกับบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อธุรกิจหลักทรัพย์ หรือ TSFC ประกาศเป็นหลัก ก่อนจะมีการสั่งห้ามซื้อขายในลักษณะดังกล่าวกับลูกค้าบริษัทต่อไป
แหล่งข่าวจาก บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เคจีไอ จะแบ่งการห้ามซื้อขายแบบให้สินเชื่อเป็น
2 กรณีแรกตามคำสั่งตลาดหลักทรัพย์ และจากการพิจารณาของบริษัทโดยวิธีหนึ่งที่นำมาใช้ คือ ปริมาณการซื้อของลูกค้าหากคูณ 2.5 แล้วเกินกว่าทุนจดทะเบียนบริษัทนั้นๆ บริษัทจะมีคำสั่งห้ามซื้อขายแบบให้สินเชื่อทันที ซึ่งหากระดับที่เกินกว่าที่กำหนดปรับลดลงก็จะอนุญาตให้กลับสู่ปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น