xs
xsm
sm
md
lg

เนื้อจระเข้ไทย : ตลาดส่งออก 30 ล้านบาท/ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ข่าวการหารือระหว่างกรมประมงของไทย กับผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงควบคุมคุณภาพและตรวจสอบกักกันโรคของจีน กรมประมงของไทยเสนอขอให้ทางการจีนอนุญาตให้นำเข้าเนื้อจระเข้เพื่อการบริโภคจากไทย

เนื่องจากชาวจีนมีความต้องการบริโภคเนื้อจระเข้จำนวนมาก แต่จีนยังไม่มีการเพาะเลี้ยงจระเข้จริงจัง ข่าวนี้ ช่วยกระตุ้นธุรกิจเพาะเลี้ยงจระเข้ในไทยคึกคักขึ้นมาก เนื่องจากการที่ไทยจะขยายตลาดส่งออกเนื้อจระเข้ไปตลาดจีน จะช่วยทำให้ผลตอบแทนธุรกิจเพาะเลี้ยงจระเข้ และธุรกิจจำหน่ายเนื้อจระเข้ เพิ่มขึ้น จากอดีต ที่ผลตอบแทนหลักธุรกิจเพาะเลี้ยงจระเข้ คือ จำหน่ายหนังดิบ หนังฟอก และผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากหนังจระเข้

ตลาดเนื้อจระเข้…ตลาดโปรตีนทางเลือกใหม่
เดิม เนื้อจระเข้เป็นที่นิยมมากในกลุ่มชาวจีน ชาวจีนยังมีความเชื่อว่า เนื้อจระเข้มีคุณสมบัติทางยา การบริโภคเนื้อจระเข้ เครื่องใน และเลือด สามารถรักษาโรคภูมิแพ้ และความดันโลหิตสูง

ชาวจีนเห็นว่าเนื้อจระเข้รสชาติอร่อย รสชาติผสมกัน ระหว่างเนื้อไก่ เนื้อหมู และอาหารทะเล อย่างไรก็ตาม ช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา เนื้อจระเข้กลายเป็นทางเลือกใหม่ผู้นิยมบริโภคเนื้อทั่วโลก

ความต้องการเนื้อจระเข้ตลาดโลก เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น เนื่องจากปี 2543-2544 เกิดการแพร่ระบาดโรควัวบ้า และโรคปากและเท้าเปื่อย ในสหภาพยุโรป ทำให้ชาวยุโรปเลือกรับประทานเนื้อจระเข้มากขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนประการสำคัญ คือเนื้อจระเข้ จัดเป็นเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อขาว ซึ่งถือเป็นเนื้อสัตว์เพื่อสุขภาพ เนื่องจากโปรตีนสูง ปริมาณไขมันต่ำกว่าเนื้อสัตว์ประเภทเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เป็นต้น รวมทั้งยังเป็นเนื้อที่ปลอดภัยจากสารเคมีตกค้าง

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่กล่าวถึงในการค้าเนื้อจระเข้ตลาดโลก คือมาตรฐานสุขอนามัยด้านโรงฆ่าและชำแหละจระเข้ รวมทั้งขั้นตอนตัดแต่ง แช่เย็น แปรรูป จนถึงขนส่งเนื้อจระเข้และผลิตภัณฑ์

เนื่องจากบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบแอฟริกา แม้จะถือเป็นแหล่งที่มีจระเข้ชุกชุม เหมาะสำหรับตั้งฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ รวมทั้งยังเป็นประเทศส่งออกหนังจระเข้สำคัญของโลก

แต่ประเทศเหล่านี้ ยังไม่มีบทบาทสำคัญค้าเนื้อจระเข้ อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ มีโอกาสมาก ที่จะพัฒนามาเป็นประเทศส่งออกเนื้อจระเข้ โดยพัฒนาโรงฆ่า และชำแหละ จระเข้

ธุรกิจเนื้อจระเข้ไทย…มูลค่าส่งออก 30 ล้านบาทต่อปี
ผลจากการที่พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2535 ทำให้อนาคตผลิตภัณฑ์จระเข้จากไทยสดใสขึ้น ภายใต้พระราชบัญญัติฉบับใหม่นี้ กรมประมงดำเนินการจดทะเบียนฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ ตรวจสอบ และควบคุมฟาร์ม

กรมประมงร่างแผนจัดการจระเข้ในไทย เสนอที่ประชุมวิชาการ คณะทำงานด้านอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งสัตว์ป่าและพืชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (ไซเตส-The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES)

แผนดังกล่าว เป็นแนวปฏิบัติค้าจระเข้และผลิตภัณฑ์ต่อไป การเข้ามาจัดระเบียบผลิตและการค้าของกรมประมง จะแก้ไขปัญหาการค้าผลิตภัณฑ์จระเข้ ปัจจุบัน ในไทยมีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้จดทะเบียน 12 ฟาร์ม จากการสำรวจของกรมประมง ปัจจุบัน ในไทย มีฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ 186 ฟาร์ม

เพาะเลี้ยงจระเข้ประมาณ 170,000 ตัว ผลิตภัณฑ์จระเข้จากทั้ง 12 ฟาร์ม ส่งออกจำหน่ายได้ทั่วโลก ดังนั้น อนาคตตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จระเข้ไทย น่าจะขยายตัวมาก เนื่องจากหนังจระเข้ของไทย คุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก

ร่างแผนจัดการจระเข้ของกรมประมง ยังจะช่วยแก้ไขปัญหาลักลอบนำเข้าจระเข้จากกัมพูชาและอินเดีย ผลของแผนนี้ จะทำให้ธุรกิจค้าจระเข้และผลิตภัณฑ์ของไทย เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

อนาคต ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์จระเข้ไทย น่าจะขยายตัวมาก ส่งผลธุรกิจฟาร์มจระเข้ขยายตาม กรมประมงหวังว่า ไทยจะเป็นประเทศเลี้ยงจระเข้มากที่สุด เป็นศูนย์กลางจำหน่าย ตลอดจนแปรรูปจระเข้ และผลิตภัณฑ์ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ปัจจุบัน ต้นทุนผลิตจระเข้ ยังไม่มีการทำเป็นที่อ้างอิงที่น่าเชื่อถือ เนื่องจากต้นทุนโรงเรือน และการจัดการจระเข้ของเกษตรกรแต่ละราย ต่างกันมาก แต่ประมาณว่า เฉพาะต้นทุนผันแปร น่าจะประมาณ 5,000 บาทต่อตัว

แยกเป็น ต้นทุนลูกจระเข้ ประมาณ 2,000-3,000 บาท ต้นทุนค่าอาหาร ประมาณปีละ 500 บาทต่อตัว หรือประมาณวันละ 1 บาทต่อตัว เกษตรกรต้องเลี้ยงประมาณ 3.5-4 ปี จึงจะได้จระเข้ที่มีความยาว 1.80 เมตร

คิดเป็นต้นทุนค่าอาหารทั้งหมดประมาณ 2,000 บาทต่อตัว ปัจจุบัน ต้นทุนผลิตจระเข้ประมาณ 5,000 บาทต่อตัว แยกเป็น ต้นทุนลูกจระเข้ 3,000 บาท ต้นทุนเลี้ยงประมาณปีละ 500 บาท ต้องใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4 ปี จึงจะได้จระเข้ความยาว 1.80 เมตร คิดเป็นเงินต้นทุนเลี้ยงทั้งหมด 2,000 บาท

รายได้จากการเลี้ยงจระเข้ ขั้นต่ำตกประมาณ 7,500 บาท แยกเป็น หนังจระเข้ 4,000 บาท เนื้อจระเข้ 2,500 บาท เครื่องในและไขมัน 1,000 บาท อย่างไรก็ตาม รายได้นี้ จะเพิ่มขึ้นตามน้ำหนัก และความยาวของจระเข้ ตลอดจนคุณภาพหนังจระเข้

กำไรจากธุรกิจเลี้ยงจระเข้เฉลี่ย ประมาณเท่าตัวของต้นทุน ขึ้นกับเงื่อนไขผู้เลี้ยงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสภาพบ่อ ฝีมือ หรือความชำนาญในการเลี้ยง ตลอดจนคุณภาพอาหารใช้เลี้ยงจระเข้

ราคาเนื้อจระเข้ แบ่งเป็น ราคาเนื้อจระเข้สดประมาณ 650 บาทต่อกิโลกรัม ราคาเนื้อจระเข้แห้งประมาณ 3,000-3,500 บาทต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ราคาซื้อขายจริง อาจต่างไปบ้าง ขึ้นกับข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ตลาดส่งออกเนื้อจระเข้ของไทย คือประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปและเอเชีย ความต้องการเนื้อจระเข้แต่ละตลาด จะต่างกัน กล่าวคือ เยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ผู้บริโภคต้องการเนื้อจระเข้ส่วนที่นำไปทำสเต็ก

ฮ่องกงและจีน นิยมบริโภคเครื่องใน เนื้อส่วนเท้า และเลือด เพื่อนำไปประกอบอาหารประเภทสเต๊ะ เนื้อจระเข้ทอดราดซอส และซุปจระเข้ นอกจากส่งออกลักษณะสด แช่เย็น แช่แข็ง ลู่ทางส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อจระเข้บรรจุกระป๋อง ก็น่าสนใจ

ปัจจุบัน ราคาจำหน่ายเนื้อจระเข้บรรจุกระป๋อง ขนาด 250 กรัม 200 บาทต่อกระป๋อง มีส่วนผสมเนื้อจระเข้ สมุนไพรจีน และเห็ดหอม การส่งออกเนื้อจระเข้ของไทย ประมาณ 5 ตันต่อเดือน

คิดราคาเฉลี่ยเนื้อจระเข้ที่จำหน่ายในตลาดโลก ประมาณ 10-15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม มูลค่าส่งออกเนื้อจระเข้ไทยประมาณ 600,000-750,000 ดอลลาร์ หรือ 24-30 ล้านบาทต่อปี

ออสเตรเลีย…คู่แข่งที่น่ากลัว
ปัจจุบัน ประเทศส่งออกเนื้อจระเข้ที่สำคัญในตลาดโลก คือ ซิมบับเว ปาปัวนิวกินี อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ประเทศเหล่านี้ เป็นคู่แข่งที่ไทยต้องจับตามอง เจาะขยายตลาดส่งออกเนื้อจระเข้

โดยเฉพาะออสเตรเลีย แม้ปัจจุบัน ออสเตรเลียยังมีปัญหาขยายพันธุ์ เนื่องจากฟาร์มเพาะเลี้ยงบางพื้นที่ ยังต้องอาศัยเก็บไข่จระเข้จากธรรมชาติเพาะฟัก แต่ธุรกิจเพาะเลี้ยงจระเข้ ขยายตัวมาก

ธุรกิจเพาะเลี้ยงจระเข้ในออสเตรเลีย เริ่มจริงจังประมาณปี 2523 ปัจจุบัน การเพาะเลี้ยงจระเข้ในออสเตรเลีย เติบโตมากกว่าเท่าตัว ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ออสเตรเลียผลิตเนื้อจระเข้ประมาณ 100 ตันต่อปี

ตลาดส่งออกสำคัญของเนื้อจระเข้ออสเตรเลีย คือ อังกฤษ เดนมาร์ก สวิตเซอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ กำลังเจาะขยายตลาดมาเลเซีย ข้อจำกัดผลิตเนื้อจระเข้ออสเตรเลีย คือปริมาณผลิตเนื้อจระเข้ ขึ้นกับความต้องการหนังจระเข้

ทำให้ปริมาณผลผลิตเนื้อจระเข้ออสเตรเลีย ค่อนข้างผันผวน ผลผลิตเนื้อจระเข้ส่วนใหญ่ ป้อนตลาดในประเทศ ทั้งภัตตาคาร ร้านจำหน่ายเนื้อจระเข้โดยเฉพาะ รวมถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต

ราคาจำหน่ายปลีกเนื้อจระเข้ในออสเตรเลีย ประมาณ 22-27 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อกิโลกรัม บางปี ปริมาณเนื้อจระเข้ที่ผลิตได้ ไม่เพียงพอกับความต้องการ ทำให้ต้องนำเข้าจากปาปัวนิวกินี และซิมบับเว

อย่างไรก็ตาม ออสเตรเลียมีข้อกำหนดสุขอนามัยเข้มงวดมาก เพื่อปกป้องผู้บริโภคในประเทศ ปัญหาที่อุตสาหกรรมจำหน่ายเนื้อจระเข้ในออสเตรเลียยังต้องเผชิญ คือผู้บริโภคและผู้ค้าเนื้อจระเข้ ยังขาดความรู้คุณค่าโภชนาการของเนื้อจระเข้ และแหล่งจำหน่ายเนื้อจระเข้

เนื่องจากผู้บริโภค ยังมีความเชื่อว่า การจำหน่ายปลีกเนื้อจระเข้ ผิดกฎหมาย ปัจจุบัน กฎหมายออสเตรเลีย อนุญาตให้จำหน่ายเนื้อจระเข้ได้ เฉพาะเนื้อแช่แข็ง ขณะที่งานวิจัยการตลาด สำรวจพบผู้บริโภคต้องการบริโภคเนื้อจระเข้สดแช่เย็น

นอกจากออสเตรเลีย คู่แข่งน่าจับตามอง คือเวียดนาม แม้ปัจจุบัน การเลี้ยงจระเข้ในเวียดนาม ยังอยู่ระยะเริ่มต้น ยังต้องเผชิญปัญหามากมาย เช่น การเพาะพันธุ์ เทคนิคการเลี้ยง เป็นต้น

ทำให้จระเข้ที่เวียดนามเลี้ยง ยังคงคุณภาพต่ำ แต่เวียดนาม เป็นคู่แข่งน่าจับตามอง ปัจจุบัน เวียดนามจดทะเบียนฟาร์มจระเข้กับไซเตสเพียง 5 ฟาร์ม แต่สำรวจพบว่า มีครัวเรือนและบริษัทเพาะเลี้ยงจระเข้ประมาณ 125 แห่ง

แม้ผลผลิตจากจระเข้ของฟาร์มที่ไม่จดทะเบียนกับไซเตส ตลาดจะจำกัดอยู่ในประเทศ เนื่องจากไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์จระเข้ไปประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป ไต้หวัน ฮ่องกง และสหรัฐฯ ได้

แต่สามารถส่งออกจีน มีรายงานว่า การส่งออกจระเข้จากเวียดนามไปตลาดจีน ยังต่ำกว่าโควตาที่ได้รับจากกระทรวงการค้าของจีน สถานะปัจจุบันของเนื้อจระเข้เวียดนาม จึงยังไม่ใช่คู่แข่งน่ากลัวของไทย

สรุป
ไทยมีโอกาสดีมาก ก้าวเป็นประเทศผู้ส่งออกเนื้อจระเข้สำคัญของโลก เนื่องจากมีปัจจัยหนุน ทั้งความเหมาะสมการขยายฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ มีมาตรฐานสุขอนามัยด้านโรงฆ่าและชำแหละ ความชำนาญตัดแต่งเนื้อ และมีโรงงานแปรรูประดับสากล เป็นที่ยอมรับทั่วโลก รวมทั้งยังมีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบจัดการห้องเย็น และระบบขนส่ง มาตรฐานต่างๆ เหล่านี้ เป็นที่รู้จัก และยอมรับ ระดับนานาชาติเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น