xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 … ยังคงชะลอต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดแนวโน้มชะลอตัวเศรษฐกิจไทย ยังจะดำเนินต่อเนื่องตลอดช่วงที่เหลือปีนี้ คงยืนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ 6% ปี 48 ที่ 5.5% ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงหลักปีหน้า ยังคงเป็นราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อในประเทศ ที่อาจยังคงปรับตัวขึ้น แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกอาจอ่อนตัว ตลอดจนแนวโน้มชะลอตัวการส่งออก ตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ

จากตัวเลขเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจของธนาคารแห่งประเทศไทย กรกฎาคมและสิงหาคม และตัวเลขเงินเฟ้อกระทรวงพาณิชย์กันยายน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการอัตราขยายตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ดังนี้:-

•การใช้จ่ายภาคเอกชนขยายตัวอัตราชะลอ คาดการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว
5.1% จากปีก่อนหน้า (year-on-year) ลดลงจากที่ขยาย 5.5% ไตรมาส 2 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวลดเหลือ 12% จาก 16.2% ไตรมาสก่อนหน้า

การชะลอตัวการใช้จ่ายเอกชนดังกล่าว เป็นผลจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนลดลง จากความไม่แน่นอนภาวะเศรษฐกิจ หลังปรับเพิ่มราคาน้ำมันเบนซิน และเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาไข้หวัดนก และสถานการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่รายได้เกษตรกร ก็ขยายตัวชะลอจากไตรมาสก่อนหน้า ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตร

•อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มเร่งเบิกจ่าย
งบประมาณของรัฐบาลก่อนสิ้นปีงบประมาณ คาดว่าการบริโภคของรัฐบาลจะขยายตัว 6.2% เพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัว 4.3% ไตรมาส 2

การลงทุนภาครัฐ คาดจะขยายตัว 18% เพิ่มขึ้นจาก 0.3% ไตรมาสก่อนหน้า การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณดังกล่าว คาดว่าไตรมาส 3 รัฐบาลจะมีดุลงบประมาณขาดดุล ไม่รวมชำระคืนต้นเงินกู้ ราว 7 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับเกินดุลถึง 5.3 หมื่นล้านบาทไตรมาสก่อนหน้า

ประมาณการอัตราขยายตัวจากปีก่อนหน้าของ GDP ไทยไตรมาส 3 ปี 2547

•การค้าระหว่างประเทศ คาดว่าไตรมาส 3 การส่งออก (ตัวเลขฐานดุลชำระเงินของ
ธปท.) จะขยายตัว 25% ขณะที่การนำเข้าจะขยายตัว 31.1% ส่งผลดุลการค้าขาดดุล 150 ล้านดอลลาร์ ต่อเนื่องจากที่ขาดดุล 182 ล้านดอลลาร์ไตรมาส 2

มูลค่าเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 3 คาดจะอยู่ที่ 1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากที่เกินดุล 635 ล้านดอลลาร์ไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการปรับเพิ่มดุลบริการ ตามปัจจัยฤดูกาล เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า (year-on-year) ฐานะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 3 ยังคงลด 44.8% จากปีก่อนหน้า แต่เป็นอัตราปรับลดน้อยกว่าที่ลดถึง 49.6% ไตรมาส 2

•เงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้นอัตราเร่ง ตามการปรับเพิ่มราคาน้ำมัน และราคาสินค้า
หมวดอาหาร โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.3% เทียบ 2.6% ไตรมาส 2 ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยในประเทศ เพิ่มถึง 18% ไตรมาส 3 จาก 6.9% ไตรมาสก่อนหน้า

•โดยรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าไตรมาส 3 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 6% จากปีก่อนหน้า (year-on-year) ชะลอจากที่ขยาย 6.3% และ 6.6% สองไตรมาสก่อนหน้า

•การชะลอตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ยังสอดคล้องทิศทางอ่อนค่าเงินบาท ที่อ่อนตัว
เฉลี่ย 41.30 บาท/ดอลลาร์ไตรมาส 3 จากเฉลี่ย 40.30 และ 39.22 บาท/ดอลลาร์ 2 ไตรมาสก่อน

แม้การอ่อนค่าเงินบาท ส่วนหนึ่งเป็นไปตามค่าเงินภูมิภาค โดยเฉพาะเงินเยน ที่อ่อนตัวเฉลี่ย 110.82 เยน/ดอลลาร์ไตรมาส 3 จาก 109.56 และ 106.30 เยน/ดอลลาร์ 2 ไตรมาสก่อน

แต่น่าสังเกตว่า ช่วงไตรมาส 3 จากไตรมาส 2 บาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบดอลลาร์ อัตราส่วนมากกว่าการอ่อนค่าเยน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเฉพาะในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาไข้หวัดนก รวมทั้งความกังวลปัญหาหนี้เสียธนาคารพาณิชย์

•อย่างไรก็ตาม พิจารณาตัวเลขที่ปรับอิทธิพลปัจจัยด้านฤดูกาลออกแล้ว (seasonally adjusted series) รวมทั้งทำเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (quarter-on-quarter) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ไตรมาส 3 GDP ที่ปรับฤดูกาลแล้วของไทย จะขยายประมาณ 2.1% จากไตรมาส 2 ซึ่งเป็นอัตราขยายตัวที่เพิ่มขึ้นกว่าที่ขยาย 0.8% ไตรมาส 2/ไตรมาส 1

การขยายตัวดังกล่าว ได้รับแรงหนุนจากการลงทุน และการใช้จ่ายเพื่อบริโภคของรัฐบาล ที่คาดว่าอัตราขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าตัวแปรทั้ง 2 หลังปรับผลของฤดูกาลแล้ว จะอยู่ที่ 7.4% และ 2.9% ตามลำดับ เทียบกับทั้งคู่ต่างหดตัว 0.3% ไตรมาส 2/ไตรมาส 1

•แม้ตัวเลขปรับฤดูกาลของ GDP ไตรมาส 3 อาจเพิ่มขึ้น 2.1% จากไตรมาสก่อนหน้า
แต่ยังนับเป็นอัตราเพิ่มต่ำกว่าอัตราเพิ่มไตรมาส 3/ไตรมาส 2 ปี 2546 ที่เท่ากับ 2.3% ขณะเดียวกัน อัตราขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าทั้ง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาปีนี้ ล้วนต่ำกว่าอัตราขยายตัวที่เห็นปี 2546 ทั้งสิ้น สะท้อนการชะลอตัวแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีนี้ชัดเจน

อัตราขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าของ GDP ไทยที่ปรับฤดูกาลแล้ว

ไตรมาสปี 2546ปี 2547
11.90.8
21.10.8
32.32.1 *

* ประมาณการโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองว่า แนวโน้มชะลอตัวเศรษฐกิจไทย ยังจะดำเนินต่อเนื่อง
ตลอดช่วงที่เหลือปีนี้ จากปัจจัยลบต่าง ๆ ข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงยืนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ 6% ปี 2548 ที่ 5.5%

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงหลักปีหน้า ยังคงเป็นราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อในประเทศ ที่อาจยังคงต้องปรับตัวขึ้น แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกอาจอ่อนตัวลงก็ตาม ตลอดจนแนวโน้มชะลอตัวการส่งออก ตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ

สรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวจากปีก่อนหน้า (year-on-year) ชะลอเหลือ 6% ไตรมาส 3 จากที่ขยายตัว 6.3% และ 6.6% 2 ไตรมาสก่อนหน้า การชะลอตัว GDP ดังกล่าว เป็นผลจากการชะลอการใช้จ่ายภาคเอกชนเป็นหลัก

ทั้งการบริโภคและการลงทุน ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐก่อนสิ้นปีงบประมาณ รวมทั้งแรงหนุนฐานะดุลบัญชีเดินสะพัด ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จากดุลบริการที่ดีขึ้นไตรมาสนี้ ตามปัจจัยทางฤดูกาล

แม้ตัวเลขหลังปรับฤดูกาลแล้ว GDP ไทยอาจเพิ่มขึ้น 2.1% จากไตรมาสก่อนหน้า (quarter-on-quarter, seasonally adjusted) แต่หากพิจารณาตัวเลขทั้ง 3 ไตรมาสที่ผ่าน เมื่อเทียบกับตัวเลขขยายตัวปีก่อนหน้า

เศรษฐกิจไทยอัตราขยายตัวชะลอปีนี้ชัดเจน การชะลอตัวเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นผลจากความเชื่อมั่นภาคเอกชนลดลง จากความไม่แน่นอนเศรษฐกิจ หลังปรับเพิ่มขึ้นราคาน้ำมันเบนซิน และเงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาไข้หวัดนก และสถานการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้

อย่างไรก็ตาม พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ โดยรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงยืนตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ 6% ปี 2548 ที่ 5.5% ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงหลักปีหน้า ยังคงเป็นราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อในประเทศ ตลอดจนแนวโน้มชะลอการส่งออก ตามเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น