xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.ชี้ภาวะเศรษฐกิจไตรมาสแรกฉลุย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สศอ.เผยภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสแรกปี 2547 ฝ่าวิกฤติไข้หวัดนกและปัญหาภาคใต้ฉลุย เติบโตร้อยละ 4.21 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2546 อัตราการใช้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์-ปูนซีเมนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นำโด่ง รับความต้องการตลาดโต ขณะที่แนวโน้มไตรมาส 2 ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ปัจจัยเสี่ยงราคาน้ำมันขยับสูง แนะต้องเร่งส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ทั้งแก๊สโซฮอล์ ก๊าซธรรมชาติ

นางชุตาภรณ์ ลัมพสาระ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.ได้สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (GDP ของภาคอุตสาหกรรม) ช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2547 พบว่ามีการขยายตัวในเกณฑ์ที่ดีมาก แม้ต้องเผชิญกับปัญหาไข้หวัดนกและความไม่สงบในภาคใต้ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 4.21 และร้อยละ 9.28 ขณะที่ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2546 ร้อยละ 1.04 และร้อยละ 10.26 ตามลำดับ

ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.4 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ซึ่งบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกมูลค่าการส่งออกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 19.07 โดยมีสินค้าที่ติดอันดับต้นๆได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบแผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจพบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังกำลังเผชิญปัญหาภาวะการผลิตและจำหน่ายลดลงในส่วนของอุตสาหกรรมยา ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมไตรมาสแรกปี 2547 มีประมาณ 5,822.7 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.8โดยยาทุกประเภทมีการผลิตลดลงอย่างมาก ขณะที่การส่งออกช่วงไตรมาสแรก มีมูลค่า 1,098.6 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนร้อยละ 6.3 และ 4.6 ตามลำดับ สาเหตุหลักมาจากความต้องการของตลาดโลกลดลง โดยเฉพาะสินค้าในหมวดแวดดิ้ง ผ้ากอซ ผ้าพันแผล และสำลี รวมถึงมีการแข่งขันด้านราคากันสูง และไทยต้องสั่งนำเข้ายาจากต่างประเทศที่มีราคาแพง เพราะเรายังไม่สามารถผลิตเองได้

ด้านอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังไทยประสบปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยหนังดิบและหนังฟอก การผลิตช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2547 เทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2546 ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 11.8 อีกทั้งแนวโน้มการนำเข้ากลับเพิ่มขึ้นในทุกรายการ ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศผู้นำสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนม เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส และจีน ซึ่งเป็นสินค้าราคาถูก และได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทยเป็นอย่างมาก โดยภาครัฐได้ร่วมกับภาคเอกชนหามาตรการกำหนดการนำเข้าเพื่อป้องกันสินค้าคุณภาพต่ำไหลทะลักเข้ามาในประเทศ ด้วยการส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศ

นอกจากนี้ สศอ.ได้ประเมินแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2547 พบว่า แม้ภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมยังมีแนวโน้มในการส่งออกที่กระเตื้องขึ้น แต่ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตที่สำคัญ คือ ภาวะราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 28.10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2546
มาเป็น 38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในเดือนพฤษภาคม 2547 คิดเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.23 และยังคงมีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในอัตราที่สูงตลอดปี ทำให้ผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ
ในส่วนของวัตถุดิบที่ต้องนำเข้า อย่างไรก็ตาม สศอ. ได้เร่งศึกษาถึงผลกระทบในปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้นเล็งเห็นว่า ควรส่งเสริมให้ใช้เชื้อเพลิงที่ผลิตได้ในประเทศ ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ รวมถึงสนับสนุนการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมช่วงไตรมาสที่ 2 คาดว่า อุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่น โดยในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนประกอบ จะยังรักษาระดับการเติบโตไว้ได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะสภาวการณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำ และการแข่งขันของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ล้วนเป็นปัจจัยบวกสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศ ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องปรับอากาศในสภาพที่อากาศร้อน ทำให้มีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องต่อไป โดยในปี 2547 คาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นอีกประมาณร้อยละ 10 ทั้งนี้ ช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 46.5 ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 3.9

ส่วนอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2547 มีปริมาณผลิตรวม 19.25 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.16 และ 10.44 ตามลำดับ ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคการก่อสร้างอันเป็นผลมาจากนโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราใช้กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 1 ปี 2547 คิดเป็นร้อยละ 63.90 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.61 และ 13.90 ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น