กรุงนิวเดลีของอินเดียกลับมาเผชิญวิกฤตหมอกควันพิษอีกครั้งในช่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาว โดยผลจากการจุดพลุและเผาพื้นที่การเกษตรส่งผลให้ค่ามลพิษในอากาศวันนี้ (23 ต.ค.) พุ่งสูงจนแตะระดับ “อันตราย”
ประชาชนที่ออกไปทำงาน หรือทำกิจกรรมนอกบ้านต้องฝ่าฟันกับหมอกพิษที่คร่าชีวิตชาวอินเดียปีละหลายพันคนตามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข แต่กระนั้นก็ยังมีคนเมืองหลวงเพียงส่วนน้อยที่ใส่ใจเรื่องการสวมหน้ากาก
รายงานระบุว่า ประตูอินเดีย (India Gate) หนึ่งในอนุสรณ์สถานที่เป็นแลนด์มาร์กยอดนิยมของกรุงนิวเดลี ถูกบดบังด้วยหมอกควันที่ส่งกลิ่นเหม็นตลบอบอวลไปทั่วเมือง
เมืองหลวงอินเดียต้องเผชิญกับปัญหาหมอกควันพิษลักษณะนี้อยู่เป็นประจำทุกปี ซึ่งเกิดจากการที่เกษตรกรในภูมิภาคใกล้เคียงเผาตอซังข้าวเพื่อเคลียร์พื้นที่ทำการเพาะปลูกใหม่
ค่ามลพิษคาดว่าจะพุ่งสูงขึ้นอีกในช่วงเทศกาลดิวาลี (Diwali) ซึ่งตรงกับวันที่ 1 พ.ย.ปีนี้ เนื่องจากประชาชนจะมีการจุดพลุดอกไม้ไฟเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งแสงไฟของศาสนาฮินดู
ค่า PM2.5 ซึ่งหมายถึงอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่กระแสเลือดผ่านปอดพุ่งเกินมาตรฐานสูงสุดรายวันที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเกือบ 23 เท่า โดยวัดได้ที่ 344 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตามข้อมูลจากบริษัท IQAir ในวันนี้ (23)
ทางการนิวเดลีได้ออกคำสั่ง “แบน” พลุดอกไม้ไฟทุกประเภทอย่างเด็ดขาดในเดือนนี้ ซึ่งรวมถึงการผลิตและจำหน่ายด้วย เพื่อลดปัญหามลพิษในอากาศซึ่งถือเป็น “ประโยชน์ต่อส่วนรวม”
อย่างไรก็ดี คำสั่งแบนที่ผ่านๆ มามักจะถูกเพิกเฉยละเลย ขณะที่ตำรวจก็ไม่ค่อยอยากจับกุมผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง เนื่องจากทราบกันดีว่าการจุดพลุในเทศกาลดิวาลีถือเป็นความเชื่อของชาวฮินดู
ทางการอินเดียยังออกคำสั่งห้ามการเผาตอซัง และในสัปดาห์นี้ตำรวจที่รัฐหรยาณาก็ได้จับกุมเกษตรกรหลายคนที่ยังคงฝ่าฝืนจุดไฟเผาเพื่อเคลียร์พื้นที่กันอยู่
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความพยายามของรัฐบาลอินเดียที่จะแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศยังไม่ประสบความสำเร็จ ขณะเดียวกัน ก็มีผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet พบว่า ในปี 2019 มีคนอินเดียที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษในอากาศมากถึง 1.67 ล้านคน
ที่มา : รอยเตอร์